กลุ่มคนพิการ-สสพ.ขอรัฐทำวาระเร่งด่วนกระจายการ"จ้างงาน"ให้คนพิการอย่างเป็นธรรม

สังคม
22 ก.ค. 54
06:22
10
Logo Thai PBS
กลุ่มคนพิการ-สสพ.ขอรัฐทำวาระเร่งด่วนกระจายการ"จ้างงาน"ให้คนพิการอย่างเป็นธรรม

นโยบายพรรคเพื่อไทยแต่ละข้อ มีข้อถกเถียงว่าจะ “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” สิ่งที่จำเป็นและสำคัญคือการดูแลประชากรในกลุ่มที่มักเข้าไม่ถึงโอกาสที่รัฐจัดให้

 
จากข้อมูลการสำรวจความพิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปีพ.ศ.2550 ระบุอย่างชัดเจนว่าจำนวนคนพิการที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 1.8 ล้านคน พบว่า มีคนพิการประมาณ 2 ใน 3 (ร้อยละ 64.8) ที่ไม่ได้ทำงาน และหากพิจารณาเฉพาะวัยแรงงานระหว่างอายุ 15-59 ปี พบว่าคนพิการไม่มีงานทำถึงร้อยละ 46.7  และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือคนพิการที่มีงานทำร้อยละ 62.1 มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน  ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านโยบายและโครงการต่างๆของรัฐที่สนับสนุนเงินทุนและการพัฒนาอาชีพคนพิการที่มีอยู่คนพิการเข้าถึงได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนคนพิการทั้งประเทศ

พญ. วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิชาการและการพัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกล่าวว่า สิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ควรจะดำเนินการให้เห็นและเป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนพิการคือต้องสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิตและพัฒนาศักยภาพให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้  และต้องทำให้คนพิการไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันด้วยวิธีการใดๆทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสังคม  โดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างงาน รัฐบาลที่สังคมกำลังมุ่งเน้นและถกเถียงกันในเรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงถึงแม้จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท คนพิการก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะระบบการจ้างงานในรูปแบบปรกติคนพิการเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึง ประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องดำเนินการและหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้
 
พญ. วัชรา กล่าวถึงกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ ซึ่งเป็นประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงแรงงาน ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของการจ้างานคนพิการ จากเดิมกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานราชการต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน ลูกจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างคนปกติ 200 คน  เป็นนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานราชการต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้างคนปกติ 100  คนโดยสถานประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปีของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุด ซึ่งกฎกระทรวงที่มีการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ใน 6 เดือนนับแต่วันประกาศ คาดว่าน่าจะใช้ได้ทันในปี 2555

“ถึงแม้กฎระเบียบจะระบุอย่างชัดเจนแต่ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ได้ระบุไว้ บริษัทเอกชนหลายแห่งยอมจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แทนการจ้างงานคนพิการ เพราะเห็นว่าการจ้างงานคนพิการมีภาระที่ต้องดูแลหลายเรื่อง เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่จะต้องดำเนินการพัฒนาเรื่องการประกอบอาชีพของคนพิการให้มีการบริการในด้านอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวเสริมและเข้ามาเป็นตัวช่วยให้คนพิการสามารถพึ่งพิงตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานประกอบการเหล่านั้น  อาทิการส่งเสริมให้คนพิการเป็นผู้ประกอบการเอง ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เพราะเมื่อคนพิการเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองก็จะเกิดการจ้างงานของคนพิการด้วยกันเองมากขึ้น สสพ.เองได้ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจของการพึ่งพิงตนเองของคนพิการโดยสนับสนุนให้คนพิการเป็นเจ้าของธุรกิจเองหลายโครงการในรูปแบบของ “กิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจการคนพิการให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน หากรัฐบาลชุดใหม่อยากนำการดำเนินงานของเราไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาอาชีพให้คนพิการอย่างยั่งยืนได้เราก็ยินดี” ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)กล่าว
 
ด้านศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนทำงานที่เรียกร้องสิทธิให้คนพิการมาอย่างยาวนานกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งในการพิสูจน์ผลงานของตนเองคือการส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้  พวกเราได้จัดทำข้อเสนอหลายส่วนที่เป็นต้นแบบให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อาทิ การจัดตั้ง Job bank  ซึ่งจะเป็นระบบการขึ้นทะเบียนความต้องการในการประกอบอาชีพของคนพิการในท้องถิ่น และเมื่อใดที่นายจ้างต้องการจ้างงานคนพิการก็สามารถแจ้งเข้ามาที่ท้องถิ่นและท้องถิ่นก็จะทำการจัดสรรคนพิการให้เข้าไปประกอบอาชีพตามสถานประกอบการต่างๆ ที่ต้องการจ้างแรงงานได้ นอกจากนี้เรายังนำเสนอให้มีโมเดลของการสร้าง Job matching คือการที่นายจ้างซึ่งจ้างงานคนพิการไปแล้วจะต้องทำการฝึกทักษะในการประกอบอาชีพให้กับคนพิการเพิ่มขึ้นอีกด้วย   นอกจากนี้แล้วนายจ้างจะต้องมี Job coach ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยฝึกและเทรนงานให้กับคนพิการในการทำงานด้วย”ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการกล่าว 

นายวิริยะ กล่าวว่า สิ่งสำคัญนับจากนี้คือการเฝ้าจับตาดูการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับคนพิการกลายเป็นนโยบายที่ถูกลืม ในหลายรัฐบาลคิดว่าประชากรกลุ่มนี้ไม่ใช่ฐานเสียงสำคัญของตน จึงไม่ใส่ใจการดูและและแก้ไขปัญหา ซึ่งมากกว่าการการตีค่าของประชากรกลุ่มนี้เป็นแค่คะแนนเสียงหรือฐานเสียงเพียงน้อยนิด นั่นคือศักดิ์ศรีและคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรได้ใช้ชีวิตด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียม นี่คือวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง