ภัยแล้งรุกคืบ โรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนน้ำ

ภัยพิบัติ
23 ก.พ. 59
18:14
370
Logo Thai PBS
ภัยแล้งรุกคืบ โรงพยาบาลเริ่มขาดแคลนน้ำ
โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ต้องขอน้ำจากเทศบาลใกล้เคียงมาใช้ ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลเตรียมมาตรการรองรับโดยการขุดบ่อบาดาลเพิ่ม

วันนี้ (23 ก.พ.2559) นพ.วิรัช กลิ่นบัวแย้ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันป่าตองเปิดเผยว่า โรงพยาบาลประสบปัญหาน้ำมานานกว่า 3 เดือนแล้ว จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้ป่วย พร้อมเร่งขุดบ่อบาดาลใหม่ ที่คาดว่าจะสามารถดึงน้ำขึ้นมาใช้ได้เร็วๆ นี้

ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการใช้รถบรรทุกน้ำกว่าจากเทศบาลใกล้เคียงในอำเภอสันป่าตองมาเติมลงในถังพักน้ำของโรงพยาบาลวันละ 12 เที่ยว เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานภายในโรงพยาบาล

ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถผลิตน้ำได้เพียงพอต่อการใช้งาน ขณะที่บ่อบาดาลที่ใช้มอเตอร์สูบน้ำขึ้นมาต้องทำงานอย่างหนัก เพราะสูบน้ำลึกลงใต้ดินถึง 300 เมตร ทำให้มอเตอร์เสียหายไปแล้วถึง 3 ชุด ทางโรงพยาบาลได้รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม นพ.วิรัชยืนยันว่าจะเฝ้าระวังไม่ให้การขาดแคลนน้ำกระทบกับการให้บริการประชาชน

โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นกัน ขณะนี้มีน้ำสะอาดไม่เพียงพอสำหรับล้างเครื่องมือแพทย์จึงต้องขอสนับสนุนน้ำสะอาดจากองค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม

ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน 400,000 บาท เพื่อก่อสร้างโรงกรองน้ำระบบ RO ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและติดตั้งได้ประมาณต้นเดือนมีนาคมนี้

สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงยังคงส่งผลกระทบต่อแหล่งกักเก็บน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำพาว อ.เมืองเลย ที่แห้งขอด มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือเพียง 30,000 ลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 2 ของความจุอ่าง นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำทั้ง 12 แห่งในจังหวัดเลยยังมีน้ำเหลือรวมกันเพียง 31 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือร้อยละ 44 ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรได้

ที่จังหวัดศรีสะเกษ เขื่อนราษีไศล ใน อ.ราษีไศล ระดับน้ำยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูระบายน้ำและกำหนดการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเป็นเวลา เพื่อรักษาระบบนิเวศบริเวณท้ายเขื่อน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบกับการเพาะปลูกในเขตชลประทาน

ที่จังหวัดนครนายก น้ำในคลอง 30 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง ต.ทองหลาง อ.บ้านนา และ ต.บางปลากด อ.องครักษ์ อยู่ในสภาพแห้งขอดทำให้ชาวบ้านทั้้ง 2 ตำบล ที่อาศัยน้ำในคลองเดือนร้อน มีรายงานว่าชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางปลากด กว่า 300 ครัวเรือน ต้องซื้อน้ำถังมาใช้ดื่มและใช้อุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านมีรสเค็มจนใช้ดื่มใช้อาบไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง