เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์-มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ค้านคำขอรับสิทธิบัตรยา "โซฟอสบูเวียร์"

สังคม
30 ส.ค. 59
11:46
593
Logo Thai PBS
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอดส์-มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ค้านคำขอรับสิทธิบัตรยา "โซฟอสบูเวียร์"
ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยา "โซฟอสบูเวียร์" ซึ่งเป็นยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่มีราคาแพงกว่า 2.5 ล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งคน โดยหวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดล็อคการผูกขาดตลาด

ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ใช้มาตรการคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร มาตรา 31 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ขอใช้สิทธิ์คัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ เลขที่ 0801001634 ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทยโดยบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ที่ใช้ชื่อว่า "กลิลีด ฟาร์มาสเซ็ท แอลแอลซี" หรือ "กิลิแอด" โดยทั้ง 2 องค์กรได้ยื่นเอกสารคำคัดค้านและหลักฐานจำนวนมากกว่า 1,000 หน้าต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สำนักสิทธิบัตรพิจารณา โดยหวังว่าทางสำนักฯจะไม่รับพิจารณาคำขอดังกล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ยาตัวนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร เนื่องจากไม่มีความใหม่และไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยมีหลักฐานที่พบในต่างประเทศ 13 ชิ้นที่ชี้แจงได้ว่าโครงสร้างทางเคมีของยาและขั้นตอนการประดิษฐ์หรือการสังเคราะห์ยานี้ขึ้นมาถูกค้นพบและทำในต่างประเทศมานานแล้ว และเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่วิชาชีพเภสัชกรรมว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตยาตัวนี้เป็นความรู้ทั่วไปที่เภสัชกรรู้อยู่แล้วและได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อนหน้านี้

สอดคล้องกับนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ผู้ร่วมฟ้องคัดค้าน กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังพบความไม่โปร่งใสของการขอรับสิทธิบัตรในครั้งนี้ เพราะบริษัทที่มาขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยในวันที่ 28 มี.ค.2551 นั้นยังไม่ได้รับการโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ ซึ่งพบว่ามีการโอนสิทธิกันในภายหลังคือวันที่ 25 เม.ย.2551 จึงขัดต่อมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ดังนั้นในวันที่ 28 มี.ค.2551 นั้นบริษัทกิลีแอด ย่อมไม่มีสิทธิ์ในการดำเนินการใดๆ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว


ขณะที่นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีการยื่นคัดค้าน นอกจากนี้ยังมีจีนและรัสเซียด้วย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้ปฏิเสธไม่ให้สิทธิบัตรกับยาตัวนี้แล้ว ในขณะที่ยุโรป อินเดีย ยูเครน บราซิลและอาร์เจนตินา ก็มีผู้คัดค้านและอยู่ในกระบวนการพิจารณา ทั้งนี้ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นยาสำคัญที่จะใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงของยา แต่ยาตัวนี้ยังไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพราะมีราคาแพงมาก ซึ่งหากคัดค้านคำขอนี้สำเร็จจะช่วยให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาอื่นพอมีช่องทางที่จะผลิตยาตัวเดียวกันและขายในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ เมื่อทั้ง 2 องค์กรยื่นคำคัดค้านแล้ว สำนักสิทธิบัตรจะรับเรื่องและแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรทราบว่ามีผู้คัดค้านและผู้ขอรับสิทธิบัตรจะมีเวลา 90 วันในการโต้แย้งคำคัดค้าน เมื่อสำนักสิทธิบัตรได้รับเอกสารทั้งหมดจากทั้ง 2 ฝ่ายแล้วจึงจะเริ่มกระบวนการพิจารณาและตัดสินว่าจะปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรตามที่มีผู้คัดค้านหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง