กรมชลฯ เตือนระดับน้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก-เร่งพร่องน้ำเขื่อนป่าสักฯ

ภัยพิบัติ
28 ก.ย. 59
12:04
327
Logo Thai PBS
กรมชลฯ เตือนระดับน้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก-เร่งพร่องน้ำเขื่อนป่าสักฯ
กรมชลประทานแจ้งเตือนลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รับมือระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกระลอก เหตุฝนตกหนักทางตอนบนและน้ำเหนือไหลหลาก คาดระดับน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50 – 70 ซม.ขณะที่ท้ายเขื่อนพระรามหกน้ำจะสูงขึ้น 100-150 ซม.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ (28 ก.ย.2559) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 1,788 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรัง 292 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จากการคาดการณ์สภาวะฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในวันที่ 28 ก.ย.- 2 ต.ค.ความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวขึ้นไปบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

กรมชลประทานและกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่า ที่จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะสูงสุดประมาณ 2,155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้มีปริมาณน้ำไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยา รวมประมาณ 2,555 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 6 ต.ค.

ในระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องทยอยเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นลำดับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว

“ถ้าเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทุกๆ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มจากระดับปัจจุบัน โดยเฉลี่ย 25 เซนติเมตร” นายทองเปลวกล่าว

ทั้งนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร และยังคงต้องเฝ้าระวังหากมีฝนตกลงเพิ่มเติม จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว

ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน ช่วงวันที่ 27 ก.ย.-11 ต.ค.รวมประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโอกาสที่น้ำจะเต็มเขื่อนป่าสักฯได้ในวันที่ 8 ต.ค. 59 หากยังคงการระบายที่ 20.75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงจำเป็นต้องปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเป็น 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลมารวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนพระรามหกลงมาไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1-1.50 เมตร

กรมชลประทาน ย้ำเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก นอกคันกั้นน้ำ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป 

 

หลายจังหวัดภาคกลาง เตรียมรับมือผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้วก่อนหน้านี้

แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ อ.เมืองสิงห์บุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง 40 เซนติเมตร หลังเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 1,906 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ชาวนา ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี เร่งกั้นกระสอบทรายอุดท่อน้ำคลองชลประทานเชียงรากที่รับน้ำมาจากคลองชัยนาท - ป่าสัก ป้องกันน้ำท่วมนาข้าวหลายหมื่นไร่

ที่ จ.อ่างทอง เร่งสูบน้ำบริเวณหลังวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง ป้องกันน้ำท่วมในวิทยาลัย รวมถึงย่านเศรษฐกิจและฝั่งตรงข้ามใน ต.บางแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนราชการ หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ทำให้กระทบต่อ 3 อำเภอ คือ ป่าโมก เมืองอ่างทอง และวิเศษชัยชาญ ที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้ว อาจทำให้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 70-80 เซนติเมตร

 

 

สำหรับภาคอีสาน ชาวชุมชนท่าบ้งมั่ง เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เริ่มสร้างเพิงพักชั่วคราว เตรียมพร้อมอพยพ หลังแม่น้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เบื้องต้นมีชาวบ้านย้ายไปที่ศูนย์อพยพแล้วกว่า 20 ครอบครัว

เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดมหาสารคาม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำริมถนนบ้านเกิ้ง ต.เกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม เพื่อสูบน้ำลงสู่แม่น้ำชี หลังจากน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน เอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตร แล้วกว่า 200 ไร่

 

 

ภาคเหนือที่ จ.นครสวรรค์ น้ำจากคลองบางเคียนยังล้นท่วมบ้าน ในต.บางเคียน อ.ชุมแสง ชาวบ้านต้องใช้เรือเดินทาง และนำทรัพย์สิน เครื่องมือทำเกษตร รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ออกจากพื้นที่

จ.พิจิตร น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ยังท่วมขยายวงกว้างและเริ่มเข้าสู่ ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน โดยท่วมทั้งบ้านเรือนและทางสัญจร

เช่นเดียวกับที่ จ.ตาก ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน ทำให้น้ำท่วมบ้านใหม่ท่าแพ หมู่ 6 ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง กว่า 60 หลัง รวมถึงพื้นที่เกษตรและถนนเสียหายหลายจุด ขณะนี้ฝ่ายปกครอง อ.อุ้มผาง เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่ จ.พังงา เพื่อนบ้านช่วยกันนำ นางสุกัญญา เอ๋งเอี๋ย ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ออกจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมมานาน 3 วัน ในหมู่บ้านธารทองใต้ ต.บางม่วง อ.ตะกั่ว ขณะที่นายก อบต.บางม่วง เปิดเผยว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 หมู่ รวมกว่า 200 ครอบครัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง