“พฤติกรรมเนือยนิ่ง”คุกคามคนไทย เสี่ยงป่วยโรคเรื้อรั้ง

สังคม
29 ก.ย. 59
11:56
2,011
Logo Thai PBS
“พฤติกรรมเนือยนิ่ง”คุกคามคนไทย เสี่ยงป่วยโรคเรื้อรั้ง
กระทรวงสาธารณสุขสำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิตคนไทย ช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอในแต่ละวันน้อยลง จนเข้าขั้นที่เรียกว่า "พฤติกรรมเนือยนิ่ง" ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรัง และสาเหตุการเสียชีวิตในประเทศปีละกว่า 10,000 คน

วันนี้ (29 ก.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานทะเบียนราษฎร์ สำนักงานเขตหลักสี่ เป็นอาชีพหนึ่งที่จำเป็นต้องนั่งประจำโต๊ะต่อเนื่องตลอด 4 ชั่วโมงในช่วงเช้า และต่อเนื่องอีก 3 ชั่วโมงในช่วงบ่าย เพื่อให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

พนักงานส่วนใหญ่ ระบุตรงกันว่าข้อจำกัดเรื่องเวลาและหน้าที่ เป็นอุปสรรคกับพวกเขาที่จะลุกเดินเพื่อขยับร่างกายหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ ซึ่งพวกเขาทำได้เพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

“ที่สำนักงานเขตจะมีกิจกรรมให้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะงานของเราต้องบริการประชาชน จะให้ลุกไปขยับร่งกายแล้วมาทำงานต่อ แล้วประชาชนจะรออย่างไร จึงต้องให้บริการให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งก็ไม่เคยได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเลย” สมลักษ์ วงมณฑลขจร หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนราษฎร์ สนง.เขตหลักสี่ กล่าว

นอกจากการทำงานแล้ว ยังมีอีกหลากหลายปัจจัย ที่ทำให้คนทุกวัยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งได้โดยไม่รู้ตัว ผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง วันละ 14 ชั่วโมง ซึ่งไม่นับรวมเวลานอนหลับ 

ทั้งนี้การนั่งอยู่ในรถยนต์ติดต่อกันหลายชั่วโมง ท่ามกลางสภาพจราจรที่แออัดบนท้องถนน การนั่งเรียนหนังสือติดต่อกันนานๆ นั่งประชุม นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันโดยไม่ได้ลุกไปไหน รวมทั้งการนอนดูทีวีครึ่งค่อนวัน หรือการนั่งแชทผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนทีละนานๆ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายมี " พฤติกรรมเนือยนิ่ง " ที่ทำให้เราขยับร่างกายน้อยลงและเสี่ยงปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว

ผลการวิจัยของหลายประเทศระบุตรงกันว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่งผลเสียต่อระบบการทำงานร่างกาย ตั้งแต่ระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินควบคุมระดับน้ำตาล ทำให้การเผาผลาญแป้ง ไขมัน ของร่างกายลดลง และปีที่ผ่านมาผลสำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทย ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทย มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนถึงร้อยละ 30 ทั้งยังเป็นต้นเหตุของ 4 โรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็งรวมกันถึงร้อยละ 25 

ขณะที่ผลด้านสุขภาพจิตพบว่า คนที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ประมาณ 1 ล้าน 6 แสนคน เป็นโรควิตกกังวล และกว่า 9 แสนคน เป็นโรคซึมเศร้า บางส่วนยังเสี่ยงทำร้ายตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งจะส่งผลทั้งสุขภาพกายและจิต แต่ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายๆด้วยการเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายตัวเองให้มากขึ้น หรือจะปฏิบัติตามคลิปวีดิโอที่ชื่อว่า Active Meeting ที่จัดทำโดยกรมอนามัยและสสส. สำหรับผู้ที่ต้องเข้าประชุมเป็นประจำ ว่าระหว่างเข้าประชุมนานๆก็สามารถยืดเหยียดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ สะบัก ลำตัว ข้อมือ และข้อเท้าได้ ภายในเวลา 3 นาที

สำหรับคนที่นั่งทำงานติดโต๊ะเป็นประจำ ให้ลุกยืนหรือเดินบ้างทุกๆ 1 ชั่วโมง เลือกขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ และจอดรถให้ไกลอาคารเพื่อให้ได้เดินมากขึ้น รวมทั้งหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว

พฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในบ้านเราเท่านั้น ทั่วโลกก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่ต่างประเทศก็พยายามแก้ไข ให้มีการขยับ ยืดเส้น ยืดสาย ไม่อยู่กับท่าเดิมนานๆ อย่างการประชุมวิชาการนานาชาติในปัจจุบัน มีการจัดรูปแบบการยืนประชุม โดยจัดเก้าอี้ให้น้อยลง และมีการลุกยืนปรบมือให้กับวิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จสิ้น

การประชุมคู่ขนานสมัชชาอนามัยโลกขององค์การอนามัยโลกครั้งล่าสุด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วโลกเข้าร่วม ใช้วิธีการลุกยืนปรบมือทุก 5 นาที หลังผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอเสร็จ และทำแบบนี้ตลอดระยะเวลาการประชุม 90 นาที เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง