"กล้องหน้ารถ" หลักฐานชั้นดียุติข้อพิพาทบนถนน ตร.หนุนดันเป็นกฎหมายหลังช่วยไขคดี 40 %

อาชญากรรม
11 ก.พ. 60
09:51
3,330
Logo Thai PBS
"กล้องหน้ารถ" หลักฐานชั้นดียุติข้อพิพาทบนถนน  ตร.หนุนดันเป็นกฎหมายหลังช่วยไขคดี 40 %
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากล้องติดรถยนต์กลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ยุติข้อถกเถียงระหว่างคู่กรณีคดีบนท้องถนน ด้วยภาพที่ชี้ชัดว่าใครถูก -ผิด ขณะที่ตำรวจเผยมีการใช้ภาพเป็นหลักฐานทางคดี ร้อยละ 30-40 ล่าสุด กทม.ขอความร่วมมือเอกชน ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ให้ผู้ติดกล้อง

“กล้องหน้ารถ” ช่วยไขคดีบนท้องถนน 40 %

พ.ต.ต.มานิต จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้กำกับการสอบสวน งานศูนย์ควบคุมจราจรวิภาวดีรังสิต-ทางพิเศษ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ออนไลน์ว่า กล้องติดรถยนต์มีความสำคัญมากในเรื่องของเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน หากคู่กรณีมีกล้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำภาพออกมาได้ ก็จะใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนในทุกคดี

กล้องติดหน้ารถมีความสำคัญ 100% มันเป็นวัตถุที่พูดไม่ได้ แต่ชัดเจนด้วยภาพ ทุกคนรับได้ แม้ว่ากล้องจะส่องไปด้านหน้า แต่รถชนกันด้านหลังก็ใช้ภาพจากกล้องสันนิษฐานเหตุการณ์ได้ เพราะกล้องส่องไปในลักษณะว่ารถของตนเองและรถคันหลังมาถูกหรือไม่ ซึ่งสำนวนผมก็มีที่ใช้ภาพจากกล้อง” พ.ต.ต.มานิต กล่าว

พ.ต.ต.มานิต กล่าวเพิ่มเติมว่า หากยกตัวอย่างคดีบนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีประมาณ 200 คดีต่อปี ใช้ภาพจากกล้องติดรถยนต์เป็นหลักฐาน ร้อยละ 30 - 40 ซึ่งคดีแทบไม่ต้องถึงชั้นศาล เพราะคู่กรณีจะยอมรับจากหลักฐานภาพ หากมีการบังคับใช้กฎมายให้ติดตั้งกล้องรถยนต์ทุกคันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้หลักฐานภาพได้เลย ไม่ต้องใช้หลักจิตวิทยา หรือจับผิดว่าใครถูกใครผิด รวมทั้งกรณีบริษัทประกันภัย ร่วมลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ก็จะช่วยให้มีผู้ติดกล้องเพิ่มขึ้น

 

 


ผมแนะนำทุกคนที่เกิดคดีบนท้องถนน ว่า หลังจากนี้ต่อไปกล้องติดหน้ารถสำคัญมาก เพราะจะได้ไม่ต้องเถียงกัน ไม่ต้องขึ้นศาล ราคาถูกสุด 890 บาท แม้จะไม่มีเสียง แต่ก็มีภาพให้เห็นว่าไปยังไงมายังไง” พ.ต.ต.มานิต กล่าว

รถถูกชนแล้วหนี มีภาพหลักฐานไม่ต้องจ่ายค่า Excess

น.ส.สุกัลยา ศักดิ์อุดมเลิศ พนักงานบริษัทย่านวิภาวดีรังสิต กล่าวว่า ตนเองติดกล้องรถยนต์มาได้ 2 ปีแล้ว ราคาอยู่ที่ 2,300 บาท เนื่องจากต้องการใช้เป็นหลักฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุ โดยเลือกซื้อกล้องจากความคมชัด โดยเฉพาะการบันทึกภาพในเวลากลางคืน และตนเองเคยใช้ประโยชน์จากกล้องหน้ารถในการแจ้งความดำเนินคดีกรณีรถกระบะชนแล้วหนี ย่านวิภาวดีรังสิต อีกทั้งนำภาพไปแจ้งซ่อมรถกับบริษัทประกัน โดยไม่ต้องจ่ายค่าความเสียหายส่วนแรก (Excess) ซึ่งพนักงานบริษัทประกันภัย ระบุว่า ตรวจสอบง่ายขึ้นและสะดวก เพราะภาพมีความคมชัดและเห็นรายละเอียด รวมทั้งป้ายทะเบียนของรถคู่กรณี

น.ส.ยไมพร คงเรือง กล่าวว่า ตนเองสนใจซื้อกล้องติดหน้ารถ หลังเห็นว่าหลายกรณีใช้ภาพมาเป็นหลักฐานสำคัญ แต่มองว่าราคายังสูงอยู่

"คิดจะติดกล้องตั้งนานแล้ว แต่ราคามันยังแพง จะคอยให้ราคาเหลือ 800-1,500 บาท และได้ของที่มีคุณภาพในราคาไม่แพง" ยไมพร กล่าว

“ขนส่ง” ยังไม่บังคับติดกล้องหน้ารถ

ด้านนายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กล้องติดรถยนต์เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย จึงยังไม่ถึงขั้นต้องออกกฎหมายบังคับให้รถทุกคันติดตั้ง เนื่องจากเป็นการสร้างภาระส่วนหนึ่ง ปัจจุบันจึงเป็นไปตามความสมัครใจของเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคล หรือเจ้าของกิจการรถโดยสาร ซึ่งบางกิจการอาจติดตั้งไว้ตรวจสอบพนักงาน เช่น ตรวจสอบว่าพักงานขับออกนอกเส้นทางหรือไม่ หากจะหาพยานหลักฐานก็มีทางเลือกอื่น เช่น พยานบุคคล พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ซึ่งกล้องหน้ารถเป็นเพียงตัวเสริม ลักษณะเดียวกับโทรศัพท์มือถือ ที่บางคนมีไว้เพื่อโทรอย่างเดียว แต่บางคนจะนำมาบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย

 


"ถ้าเราบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องติด หากเขาไม่เปิดก็ยากที่จะตามนะ เขาก็ประชดโดยติดแต่ไม่เปิดกล้อง มันมองได้หลายแง่มุม ขณะนี้เป็นความสมัครใจดีแล้ว"

ขณะนี้มีเพียงผู้ประกอบการขนส่งบางรายที่ลงทุนติดตั้งกล้องหน้ารถ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนแท็กซี่บางประเทศ เช่น ฮ่องกง บริษัทจะเป็นผู้บังคับให้ติดกล้อง เพราะการแข่งขันไม่สูงนัก มีเพียงไม่กี่บริษัทแห่งแข่งกันเอง แตกต่างจากไทยที่มีเป็นร้อยบริษัท พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแลเรื่องค่ามาตรฐานกลางอย่างจริงจัง ขณะนี้ราคาของกล้องถูกลง จากหลักร้อยไปถึงหลายพันบาท แต่ไม่แน่ใจเรื่องของคุณภาพ เนื่องจากมีการแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอความร่วมมือเอกชนให้ลดเบี้ยประภัยรถยนต์กับที่ติดกล้องหน้ารถ เพื่อสร้างวินัยและป้องกันการก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 เรื่อง / ภาพ วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง