200 เขียงหมู อ.หาดใหญ่ประท้วงหมูแพง ประกาศหยุดขาย 5 วัน

ภูมิภาค
3 ส.ค. 54
13:06
8
Logo Thai PBS
200 เขียงหมู อ.หาดใหญ่ประท้วงหมูแพง ประกาศหยุดขาย 5 วัน

ราคาหมูในท้องตลาดที่สูงขึ้น และ มีแนวโน้มว่ากรมการค้าภายในจะประกาศให้หมูเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคาขาย แต่ขณะนี้ผลกระทบจากหมูราคาแพงและขาดตลาดทำให้แผงขายหมูในตลาดสดเทศบาลนครหาดใหญ่กว่า 200 แผง ประกาศหยุดขายหมู 5 วันเพื่อประท้วงราคาที่แพงขึ้น เช่นเดียวกับ แผงขายหมูบางแห่ง บอกว่า ต้องจำกัดการขายเนื้อหมูให้เฉพาะลูกค้าเก่า

แผงหมูในตลาดสดเทศบาลนครหาดใหญ่เกือบ 200 แห่งมีสภาพว่างเปล่าไม่มีเนื้อหมูวางขายเช่นเดียกับทุกวัน หลังจากพ่อค้ามีข้อตกลงร่วมกันว่าจะหยุดขายเนื้อหมูให้กับลูกค้า เพราะหมูจากฟาร์มที่ส่งขายมีราคาแพง และ ปรับราคาขึ้นเกือบทุกวันจึงต้องหยุดขายเพื่อประท้วงเป็นเวลา 5 วัน

พ่อค้าเขียงหมู บอกว่า ราคาขายส่งเนื้อหมู ขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 150-160 บาท จึงกระทบกับผู้บริโภค เช่นเดียวกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา บอกว่า ขณะนี้ปริมาณหมูในประเทศลดลงแต่ต้นทุนการเลี้ยงและการผลิตหมูเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 เช่นเดียวกับปริมาณการบริโภคที่ไม่เพียงพอ และมีรายงานว่า บางเขียงต้องจำกัดปริมาณการจำหน่ายให้กับลูกค้า หรือ บางเขียงจำหน่ายให้เฉพาะลูกค้าเก่า

ไทยพีบีเอส สำรวจข้อมูลพบ ข้อสังเกตุอีกประการที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนหมูในตลาดประเทศมีจำนวนลดลง เนื่องจากพบข้อมูลการส่งออกหมู จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่า ปีนี้มีข้อมูลการส่งออกหมูมากขึ้นจนผิดสังเกต เนื่องจากราคาขายหมู ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย มีราคาสูงกว่าราคาหมูในประเทศ เช่น ในเดือนเมษายนราคาขายหมูในประเทศอยู่ที่ 64-65 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายที่มาเลเซีย 80 บาทต่อกิโลกรัม ลาว 75 บาท ต่อกิโลกรัม และ กัมพูชา 82 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงเมื่อ 2 เดือนก่อนแต่ปัจจุบันราคาถูกปรับขึ้นให้สูงกว่านี้

นอกจากนั้นหากดูปริมาณการส่งออก พบว่า ตั้งแต่มกราคมปีนี้มีจำนวนส่งออกหมูเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และ เพิ่มขึ้นมากขึ้นหากเปรียบเทียบปีที่ผ่านมา เช่นในเดือนมกราคมปีนี้มีปริมาณหมูส่งออก 784,118 กิโลกรัมมากกว่าเดือนเดียวกัน 100,000 กิโลกรัมและจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกๆเดือน

 โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคมส่งออกหมู 855,463 กิโลกรัม และ เดือนที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่งออกหมูกว่า 1,100,000 กิโลกรัม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาเดือนพฤษภาคมผู้ประกอบการส่งออกหมู เพียง 700,000 กิโลกรัม และ เพียงแค่ 800,000 กิโลกรัมในเดือนกรกฎาคม

ขณะที่ผู้ประกอบการ และ สมาคมผู้เลี้ยงหมู อ้างถึงสาเหตุว่า หมูขาดตลาดเพราะเกิดการระบาดของโรคท้องร่วมฉับพลัน ทำให้สูญเสียแม่พันธุ์สุกรจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าราคาหมู อาจแพงต่อเนื่องไปอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน และกรมการค้าภายใน เตรียมหารือ เพื่อประกาศให้หมูเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคาขาย และห้ามส่งออกนอกประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง