เตือน "ปลาน็อกน้ำ" ช่วงฝนแรกเหตุชะล้างสารพิษลงแหล่งน้ำ

สิ่งแวดล้อม
4 มิ.ย. 61
16:32
1,872
Logo Thai PBS
เตือน "ปลาน็อกน้ำ" ช่วงฝนแรกเหตุชะล้างสารพิษลงแหล่งน้ำ
กรมควบคุมมลพิษ เตือนฝนแรกของฤดูมักชะล้างสิ่งปนเปื้อนจากพื้นที่เกษตร และกองวัสดุสารเคมี ซึ่งอาจทำให้คุณภาพน้ำมีปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง และการเปลี่ยนของอุณหภูมิน้ำ จนทำให้ปลาน็อกน้ำตายได้ง่าย

วันนี้(4 มิ.ย.2561) นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เตือนประชาชนให้ระวัง เนื่องจากฝนแรกจะชะสิ่งปนเปื้อนต่างๆ จากแผ่นดินที่สะสมในช่วงฤดูแล้งลงสู่แหล่งน้ำ เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร น้ำฝนที่ชะกองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำอย่างรวดเร็วเป็นต้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ

จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย.ของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนแรกเกิดขึ้น พบว่าแหล่งน้ำจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น หรืออยู่ในเกณฑ์แหล่งน้ำประเภทที่ 4 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริ โภคต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

 

ผลกระทบที่เกิดจากการชะล้างสิ่งปนเปื้อนจากแผ่นดินในช่วงฝนแรก ส่งผลให้น้ำมีความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้นเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ ทำให้กินอาหารน้อยลง ป่วยโดยเฉพาะปลาจะมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกจนทำให้ปลาตายได้คราวละมากๆในระยะเวลาอันสั้น หรือที่เรียกว่าอาการน็อกน้ำ ทั้งนี้ประชาชนสามารถรับมือกับช่วงฝนแรก ที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้ด้วยการเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน และควรลดปริมาณอาหารหรืองดให้อาหารในวันที่ฝนตกเพื่อลดปริมาณของเสียในแหล่งน้ำ

นางสุณี กล่าว่า คพ.ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนในการป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงหน้าฝน โดยการจัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสีย  บ่อบำบัดน้ำเสียและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากพบปัญหาน้ำเสียหรือสารเคมีรั่วไหลประชาชนผู้พบเหตุสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินมายังกรมควบคุมมลพิษผ่านทางสายด่วน 1650

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง