หลายปัจจัยรุมเร้า "จีดีพี" จีนเติบโตต่ำที่สุดรอบ 27 ปี

ต่างประเทศ
16 ก.ค. 62
20:19
1,402
Logo Thai PBS
หลายปัจจัยรุมเร้า "จีดีพี" จีนเติบโตต่ำที่สุดรอบ 27 ปี
จีนประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ซึ่งเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ปัจจัยภายในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก

วันนี้ (16 ก.ค.2562) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ของปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 น้อยกว่าไตรมาสแรก อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งถือว่าจีดีพีเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติครั้งแรก เมื่อปี 2535

 

 

มาร์ติน ไรเซอร์ ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศจีน เปิดเผยว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในกรอบที่ธนาคารโลกได้คาดการณ์เอาไว้แล้ว เมื่อรัฐบาลจีนพยายามสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ธนาคารโลกเชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น

 

มาร์ติน ไรเซอร์

มาร์ติน ไรเซอร์

มาร์ติน ไรเซอร์

 

ด้าน เฉิน ซิงตง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารปารีส กล่าวว่า ประเทศจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ รวมถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

 

เฉิน ซิงตง

เฉิน ซิงตง

เฉิน ซิงตง

 

ทั้งนี้ การทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อมานานนับปี ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 7.3 และส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศของจีนก็มีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน

 

 

คณะกรรมาธิการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติได้ทำข้อเสนอในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนภาคเอกชนและบริษัทขนาดเล็กให้เข้าถึงตลาดมากขึ้น สถาบันการเงินจะต้องปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนและบริษัทขนาดเล็กง่ายขึ้น รวมถึงการประมูลงานภาครัฐจะต้องโปร่งใสและยุติธรรม

 

 

ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ด้วยการสร้างสาธารณูปโภค เช่น สร้างถนน รางรถไฟ ซึ่งประเด็นนี้มีการท้วงติงว่าการสร้างสาธารณูปโภคในบางพื้นที่ดูเหมือนจะแพงเกินไป และผลประโยชน์ที่ได้อาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ภาครัฐจ่ายไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง