แนะวิธีใช้สมาร์ทโฟน ลดเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออักเสบ

สังคม
12 พ.ย. 62
15:41
2,758
Logo Thai PBS
แนะวิธีใช้สมาร์ทโฟน ลดเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออักเสบ
นักกายภาพบำบัด ม.มหิดล พบว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้มือถือมากที่สุด เข้ารับการรักษาโรคกล้ามเนื้ออักเสบจำนวนมาก จึงแนะวิธีใช้สมาร์ทโฟน ลดอาการเกิดโรค

วันนี้ (12 พ.ย.2562) กภ.จุติพร ธรรมจารี นักกายภาพบำบัดประจำศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2561 ได้สำรวจประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 56.7 ล้านคน หรือร้อยละ 89.6 ซึ่งนิสิตนักศึกษาเป็นกลุ่มที่ใช้มือถือมากที่สุดร้อยละ 99.5 และยังพบว่าผู้ที่มารักษาที่ศูนย์กายภาพบำบัด ม.มหิดลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนจากคนอายุวัยทำงานหรืออายุ 40 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอายุ 20-22 ปี ด้วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบมากขึ้น ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ไปจนถึงคอ บ่า ไหล่

 

 

โรคกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน ได้แก่ “อาการนิ้วล็อก” ซึ่งเกิดจากการอักเสบบริเวณตรงเอ็น บริเวณข้อนิ้วมือ ในส่วนของข้อมือมักพบ “โรคเดอ เกอร์แวง (De Quervain’s Disease)”หรืออาการปลอกเอ็นข้อมืออักเสบ ไล่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นในส่วนของโรคบริเวณข้อศอก จัดอยู่ในกลุ่มโรคเอ็นข้อศอกอักเสบ หรือที่เรียกกันว่า Tennis Elbow หรือ Golfer Elbow เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนต้องงอข้อศอกเล็กน้อยเพื่อให้เข้ามาใกล้สายตา ดังนั้นการงอข้อศอกนานๆ จะทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเอ็นข้อศอกได้

ไล่ขึ้นมาถึงข้อไหล่ มักพบโรคเอ็นข้อไหล่อักเสบ เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานด้วย และถ้าเรานั่งห่อไหล่หลังค่อม คอยื่น ก็จะทำให้เอ็นบริเวณข้อไหล่มีการกดทับกับโครงสร้างของกระดูก ซึ่งเมื่อเกิดการกดทับนานๆ หรือเกิดการเสียดสีนานๆ จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และอาการปวดตามมา

นอกจากนี้ การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ จะส่งผลให้เกิดโรคในกลุ่ม Myofascial pain syndrome หรือพังผืดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการนั่งท่าเดียวนานๆ กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง ตึงรั้ง จนปวดตรงบริเวณบ่า และสะบัก และอาจจะร้าวขึ้นคอ ขมับ หรือกระบอกตา หรือบางรายที่นั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ จะเกิดการยึดรั้งของเส้นประสาทบริเวณแขนทำให้มีอาการปวดชาร้าวไปตามแขนได้เหมือนกัน และอาจทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ เนื่องจากเป็นการนั่งที่ผิดหลักชีวกลศาสตร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจส่งผลทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทได้เลยทีเดียว

 

 

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบต่างๆ จากการใช้สมาร์ทโฟน มีคำแนะนำว่าหากต้องใช้สมาร์ทโฟนพิมพ์ข้อความยาวๆ ควรเปลี่ยนจากการพิมพ์เป็นการโทร ใช้เป็นข้อความเสียงหรือการพิมพ์อักษรด้วยเสียงผ่านฟีเจอร์ในสมาร์ทโฟน และไม่ควรนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก 30 – 40 นาที ด้วยการขยับยืดเหยียดเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และหาหมอนมารองตรงบริเวณข้อศอก เพื่อให้สมาร์ทโฟนอยู่ในระดับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มหน้านานๆ ซึ่งจะส่งผลต่อกระดูกคอ

อีกทั้ง จะได้ช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณสะบักหรือไหล่ที่จะส่งผลทำให้เกิดอาการปวดแขน ส่วนเรื่องขนาดของตัวอักษร และความสว่างหน้าจอก็มีส่วนสำคัญ เพราะหากสมาร์ทโฟนมีขนาดตัวอักษรที่เล็กเกินไป หรือมีความสว่างไม่เพียงพอ จะทำให้เรายิ่งต้องก้มและต้องเพ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อที่คอและตาได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง