กทม.สรุปผู้ป่วย COVID-19 รวม 418 คน เสียชีวิต 2

สังคม
26 มี.ค. 63
19:41
3,121
Logo Thai PBS
กทม.สรุปผู้ป่วย COVID-19 รวม 418 คน เสียชีวิต 2
กทม.สรุปสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ ประจำวันนี้ (26 มี.ค.) มีผู้ป่วย 418 คน เสียชีวิต 2 คน มีผู้ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 1,617 คน ส่วนในวันพรุ่งนี้ เตรียมหารือทบทวนประกาศ กทม.ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับใหม่

วันนี้ (26 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ กทม. โดยมีนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)


ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์โรค COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประจำวันนี้ (26 มี.ค.) โดยกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยในพื้นที่ 418 คน เสียชีวิต 2 คน และมีผู้ที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 1,617 คน ซึ่งนับว่ามาตรการที่ กทม.ดำเนินการมามีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง โดยจากการเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

จัดตั้งจุดคัดกรองด่านเข้าเมือง รวม 12 จุด

สำหรับการจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองด่านเข้าเมือง รวม 12 จุด ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติงานวันพรุ่งนี้ (27 มี.ค.) ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรอง อาทิ ติดตั้งแผงเหล็ก กรวยยาง บอลลูนไลท์ (ด่านละ 2 จุด) จัดบริการรถสุขาเคลื่อนที่ และสนับสนุนด้านอื่นๆ ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร้องขอเพิ่มช่องทางร้องเรียนหากพบผู้ฝ่าฝืนประกาศ กทม.ทั้ง 3 ฉบับ ผ่าน Line@ “อัศวิน คลายทุกข์”


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ได้มีประกาศ กทม. เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ทั้ง 3 ฉบับ กทม.ได้กำชับให้สำนักงานเขตติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากประชาชนพบเห็นการฝ่าฝืนประกาศ กทม.ทั้ง 3 ฉบับ อาทิ มีการชุมนุมคน หรือการเปิดสถานประกอบการที่ได้ห้ามไว้ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ Line@ “อัศวิน คลายทุกข์” : @aswinbkk เพื่อจะประสานสำนักงานเขตพื้นที่เข้าไปประชาสัมพันธ์ หรือดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป

ทบทวนประกาศให้สอดคล้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

สำหรับในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ครั้งที่ 6/2563 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ กทม.จึงเห็นควรเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.พิจารณาแนวทางข้อปฏิบัติและข้อแนะนำสำหรับกิจการ Delivery ทั้งในส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งอาหาร การบรรจุอาหาร การจัดภาชนะรองรับอาหารของผู้รับ รวมทั้งจะเสนอให้พิจารณาทบทวน หรือปรับปรุงประกาศของ กทม.ทั้ง 3 ฉบับที่ออกมา ให้เหมาะสมสอดคล้องกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง