วิจัยสหรัฐฯ พบหญิงตั้งครรภ์ป่วย COVID "รก" ได้รับความเสียหาย

ต่างประเทศ
24 พ.ค. 63
11:13
1,363
Logo Thai PBS
วิจัยสหรัฐฯ พบหญิงตั้งครรภ์ป่วย COVID "รก" ได้รับความเสียหาย
การศึกษาจากสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน (Northwestern Medicine) ของสหรัฐฯ พบผลทดสอบทางพยาธิวิทยาหลังการให้กำเนิดบุตรของหญิง 16 คนที่ติดเชื้อ COVID-19 บ่งชี้ว่า "รก" ได้รับความเสียหาย

วันนี้ (24 พ.ค.2563) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า การศึกษาจากสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน (Northwestern Medicine) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลทดสอบทางพยาธิวิทยาหลังการให้กำเนิดบุตรของหญิง 16 คน ที่มีผลตรวจโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นบวกขณะตั้งครรภ์ โดยพบหลักฐานบ่งชี้ว่า “รก” ได้รับความเสียหาย

หญิงทั้งหมดคลอดลูกที่โรงพยาบาลสตรีนอร์ธเวสเทิร์น เพรนทิส (Northwestern Medicine Prentice Women’s Hospital) โดยมี 4 คน แสดงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นเวลา 3-5 สัปดาห์ก่อนคลอดและมีผลตรวจโรค COVID-19 เป็นบวก ส่วนที่เหลือมีผลตรวจโรค COVID-19 เป็นบวกเมื่อเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก โดยมี 5 คนที่ไม่แสดงอาการของโรค ขณะที่เหลือแสดงอาการระหว่างคลอดลูก

เอมิลี มิลเลอร์ (Emily Miller) ผู้เขียนร่วมของงานวิจัย ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาประจำวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และสูติแพทย์จากสถาบันฯ ระบุว่า ทารกมีสุขภาพแข็งแรงดี คลอดตามกำหนด เป็นทารกปกติที่แสนจะน่ารัก แต่การค้นพบของเราพบว่า การไหลเวียนเลือดจำนวนมากถูกปิดกั้นและรกส่วนใหญ่เล็กกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติรกถูกสร้างขึ้นในปริมาณมาก ดังนั้นแม้มันจะทำงานเพียงครึ่งเดียวเด็กก็จะยังสมบูรณ์ดี แต่ถึงทารกส่วนใหญ่ร่างกายแข็งแรง ก็ยังมีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติในการตั้งครรภ์บางกรณีได้

รกในหญิงกลุ่มดังกล่าวปรากฏความผิดปกติ 2 รูปแบบที่พบได้บ่อย ได้แก่ การไหลเวียนเลือดจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ไม่เพียงพอเนื่องจากความผิดปกติของหลอดเลือดหรือภาวะหลอดเลือดของมารดาผิดปกติ (MVM) และภาวะลิ่มเลือดในรกอุดตัน (intervillous thrombi)

รกเป็นอวัยวะแรกของทารกในครรภ์ ทำหน้าที่เสมือนปอด ลำไส้ ไต และตับ อีกทั้งเป็นตัวรับออกซิเจนและสารอาหารจากกระแสเลือดของแม่และแลกเปลี่ยนของเสีย รกยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในร่างกายของแม่ด้วย

รกทำหน้าที่เหมือนเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกในครรภ์ หากรกได้รับความเสียหาย เด็กในครรภ์อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ และในการศึกษาที่มีขอบเขตจำกัดครั้งนี้ การค้นพบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเครื่องช่วยหายใจนั้นอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ต้องการหากแม่ติด COVID-19

ด้านเจฟฟรีย์ โกลด์สตีน (Jeffrey Goldstein) ผู้เขียนอาวุโส ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาประจำวิทยาลัยฯ และนักพยาธิวิทยาจากสถาบันฯ เปิดเผยว่า มีนักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ป่วยโรค COVID-19 ประสบปัญหาหลอดเลือดแข็งตัวและได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นการค้นพบของเราสนับสนุนว่าโรค COVID-19 อาจส่งผลให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนของบางสิ่งบางอย่าง และมันเกิดขึ้นในรก

ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์สุขภาพ นอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล (Northwestern Memorial Healthcare) และวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น คอยดำเนินการวิจัย การสอน และดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนการศึกษาครั้งนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ค.) ในวารสารอเมริกัน เจอร์นัล ออฟ คลินิคอล พาโธโลจี (American Journal of Clinical Pathology)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง