สงครามลิขสิทธิ์ระหว่างศิลปิน-ค่ายเพลง

Logo Thai PBS
สงครามลิขสิทธิ์ระหว่างศิลปิน-ค่ายเพลง

ประเด็นการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ระหว่างศิลปินและค่ายเพลงในสหรัฐฯ ถูกจับตาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกฎหมายคืนลิขสิทธิ์ผลงานอายุเกิน 35 ปีแก่ศิลปินจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีนี้ สวนทางกับค่ายเพลงที่ต้องการรักษาลิขสิทธิ์เป็นสมบัติของพวกเขาต่อไป

Honesty ผลงานอมตะของ บิลลี โจล จากอัลบั้ม 52nd Street ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 1978 คือหนึ่งในหลายผลงานเพลงดังที่วางจำหน่ายในปีที่เริ่มมีการออกกฎหมายอนุญาตให้ศิลปินสามารถเรียกคืนสิทธิจากต้นสังกัด หลังผลงานจัดจำหน่ายเป็นเวลา 35 ปี โดยให้มีผลกับผลงานทุกชุดที่วางจำหน่ายหลังวันที่ 1 มกราคม ปี 1978 ซึ่งล่าสุดมีศิลปินมากมายยืนคำร้องต่อสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ เพื่อเรียกคืนความเป็นเจ้าของในผลงานของตนเองแล้ว

นับเป็นข่าวร้ายสำหรับค่ายเพลง ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาการดาวน์โหลดเพลงผิดกฎหมายที่ทำให้รายได้ ลดลงจาก 14,000 ล้านเหรียญเหลือเพียง 6,000 ล้านเหรียญตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ค่ายเพลงแทบไม่ได้กำไรจากงานเพลงใหม่ๆ ที่ถูกดาวน์โหลดไปอย่างรวดเร็ว รายได้จากผลงานอมตะจากยุค 70 และ 80 กลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

การเสียลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ 4 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ โดยตัวแทนสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงสหรัฐฯ อ้างว่าผลงานต้นฉบับถือเป็นสมบัติของบริษัท ไม่ใช่ศิลปินผู้ไม่ต่างจากพนักงานของบริษัทจะอ้างสิทธิ์ได้

สวนทางกับความเห็นของตัวแทนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ย้ำว่าศิลปินคือลูกจ้างอิสระ เพราะพวกเขาไม่ได้รับสิทธิ์จากบริษัทเหมือนกับพนักงานทั่วไป ศิลปินยังออกค่าใช้จ่ายเองในการบันทึกเสียงผลงานแต่ละชุด โดยค่ายเพลงจะช่วยเพียงเงินล่วงหน้าซึ่งจะหักจากค่าลิขสิทธิ์ที่ศิลปินได้รับภายหลัง

ดอน เฮนรี ผู้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมศิลปินบันทึกเสียง เผยว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อสร้างความยุติธรรมแก่ศิลปิน และหวังว่าจะมีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างศิลปิน และค่ายเพลงมากขึ้น ขณะที่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมดนตรีชี้ว่ากำลังเกิดความแตกแยกทางความคิดระหว่างค่ายยักษ์ใหญ่ ทั้งฝ่ายซึ่งไม่ยอมเจรจา และยินดีที่จะต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อยื้อสิทธิ์จนถึงที่สุด และฝ่ายที่เห็นว่าการดื้อแพ่งจะส่งผลเสียต่อค่ายเพลงหากแพ้คดี และอำนาจในการควบคุมผลงานตกอยู่ในมือของศิลปินโดยสมบูรณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง