ภาคประชาชน ค้าน ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สังคม
29 มิ.ย. 63
12:44
433
Logo Thai PBS
ภาคประชาชน ค้าน ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เครือข่าย People Go Network ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระบุ รัฐบาลควบคุมโรคได้จากกฎหมายที่มีอยู่ ห่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบสิทธิประชาชน ขู่ เคลื่อนไหวทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ล่าสุด ศบค. เคาะแล้ว! ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

วันนี้ (29 มิ.ย. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่าย People Go Network รวมตัวยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยกเลิกการต่ออายุการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที

สาระสำคัญในหนังสือระบุว่า รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค. โดยอ้างเหตุว่า มีการระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อย ๆ ไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยมีท่าทีว่าจะขยายเวลาบังคับใช้ต่อไป

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามด้วยการออกข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยกำหนดโทษการไม่ปฏิบัติตามไว้อย่างสูง คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เป็นโทษสถานเดียวเท่ากันหมดสำหรับทุกเรื่อง ซึ่งควรเป็นมาตรการที่ต้องใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานการณ์ที่ "เร่งด่วนจริง ๆ" เท่านั้น เมื่อความจำเป็นหมดลงก็ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อ "การดำรงชีวิตโดยปกติสุข" โดยเร็วที่สุด

จากข้อมูลของ ศบค. พบว่า วันสุดท้ายที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ คือ วันที่ 26 พ.ค. ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 29 มิ.ย. ก็เท่ากับว่า เป็นเวลา 34 วันเต็มแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งสิ้น

ขณะที่คำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างก็ระบุตรงกันให้แยกตัวเองออกจากสังคมเป็นเวลา "14 วัน" ดังนั้น จึงนับได้ว่า ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว

แม้ยังมีการระบาดรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาระบาดระลอกใหม่ได้ ดังนั้น มาตรการที่ยังจำเป็นต้องเข้มงวดในช่วงเวลานี้ คือ การกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ด่านพรมแดน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 39-42 กำหนดไว้ละเอียดเพียงพอแล้ว

การใช้อำนาจรัฐออกคำสั่งเพื่อดำเนินการควบคุมโรค เช่น การตั้ง ศบค. ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 การสั่งปิดสถานบันเทิง การสั่งห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ การสั่งห้ามรวมตัวในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 การสั่งห้ามกักตุนสินค้าจำเป็น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกฎหมายในระบบปกตินั้นให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมโรคระบาดไว้ได้อยู่แล้ว

ขณะที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา ให้อำนาจเพิ่มแก่รัฐบาล เช่น อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว, การสั่งโอนอำนาจการสั่งการจากรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาเพื่อเป็นผู้สั่งการเองแทนทั้งหมด, ใช้ข้อห้ามรวมตัว แสดงความคิดเห็นของประชาชน และการยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นประโยชน์กับรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ เท่านั้น และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ออกแบบเพื่อสร้างมาตรการรับมือกับโรคระบาด แต่เป็นกฎหมายที่เน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐกรณีมี “ภัยคุกคามทางการทหาร” จึงควรออกแบบระบบกฎหมายใหม่สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง โดยมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในตัวแทนที่เดินทางยื่นหนังสือระบุว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อโครงการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น พร้อมยืนยันว่า ถ้า ครม. จะยังคงต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป เครือข่ายจะเดินทางมาคัดค้านอีก และอาจจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

ประชาชนจำเป็นต้องใช้สิทธิเดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือ แต่มักจะถูกห้ามเพราะบอกว่าประเทศอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โครงการกลับเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แต่ประชาชนไม่สามารถไปยื่นหนังสือเพื่อบอกว่าโครงการมีปัญหาอย่างไร เป็นการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาค

ศบค. เคาะ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ล่าสุด ที่ประชุม ศบค. มีมติต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มี พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานเสนอ 

นอกจากนี้ ศบค. ยังอนุมัติมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 5 หรือ คลายล็อกเฟส 5 ในกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง