ปอศ.จับแก๊งปลอมพันธบัตรรัฐบาล เร่งสอบสวนเพิ่ม

อาชญากรรม
3 ก.ค. 63
16:42
2,833
Logo Thai PBS
ปอศ.จับแก๊งปลอมพันธบัตรรัฐบาล เร่งสอบสวนเพิ่ม
ผู้อำนวยการ สบน.เผย ศปก.ปอศ.จับกุมขบวนการปลอมพันธบัตรรัฐบาลได้แล้ว เมื่้อวานนี้ (2 ก.ค.) อยู่ระหว่างการนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติม หลังจากเคยประกาศเตือนประชาชนระมัดระวังแก๊งปลอมพันธบัตร ตั้งแต่เดือน เม.ย.2563

วันนี้ (3 ก.ค.2563) นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ตามที่ สบน.ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังแก๊งปลอมพันธบัตร ผ่านสื่อสารสนเทศช่องทางต่างๆ เมื่อเดือน เม.ย.2563 ขณะนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ศปก.ปอศ.) สามารถจับกุมตัวการขบวนการปลอมพันธบัตรรัฐบาลได้แล้ว เมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) และอยู่ระหว่างการนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติมต่อไป

สำหรับกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากได้มีกลุ่มมิจฉาชีพออกปลอมพันธบัตรรัฐบาลและใช้อุบายหลอกลวงประชาชน โดยสร้างความน่าเชื่อถือและชักชวนให้ประชาชนร่วมลงทุน จนทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้าทำธุรกรรมเป็นจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะนายทะเบียนที่กระทรวงการคลังแต่งตั้ง ได้ตรวจสอบพบการปลอมพันธบัตรรัฐบาล และแจ้งต่อ สบน.ในฐานะหน่วยงานในกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่เป็นผู้ออกพันธบัตร เมื่อเดือน ก.พ.2563

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ สบน.เป็นผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าแจ้งความต่อ ศปก.ปอศ. และสั่งการให้ติดตามดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการปลอมแปลงพันธบัตรออมทรัพย์ในกรณีดังกล่าว มีการนำไปหลอกลวงประชาชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น เป็นหลักประกันในการประมูลงาน หรือนำไปสร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจให้ผู้อื่นหลงเชื่อและเข้าทำธุรกรรมด้วย เป็นต้น

โทษหนัก "ปลอมพันธบัตรรัฐบาล" จำคุกตลอดชีวิต

ซึ่งทาง ศปก.ปอศ.ได้ดำเนินการสืบสวนและเข้าจับกุมหัวหน้าขบวนการปลอมพันธบัตรรัฐบาลได้สำเร็จ เมื่อวานนี้ ซึ่งการปลอมพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 ฐานปลอมพันธบัตรรัฐบาล ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท

นางแพตริเซีย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สบน.มีการเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งสามารถติดตามการจำหน่ายได้จากเว็บไซต์ หรือ facebook ของ สบน. อย่างไรก็ดี หากมีผู้มาเสนอขาย ให้ยืม เช่า หรือนำพันธบัตรมาวางเป็นหลักประกัน หรือผู้ประกอบการโปรดใช้ความระมัดระวังด้วย และหากมีข้อสงสัย หรือต้องการตรวจสอบพันธบัตรรัฐบาล หรือแจ้งเบาะแสการปลอมแปลงพันธบัตร สามารถติดต่อสอบถามผ่าน สายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ www.1213.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง