ส่ง "HOPE" สู่อวกาศ ยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของ UAE

Logo Thai PBS
ส่ง "HOPE" สู่อวกาศ ยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของ UAE
จรวด H-IIA (H2A) ถูกยิงจากศูนย์อวกาศทาเนงะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำยานโฮป (Hope) ยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเป็นยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของภูมิภาคตะวันออกกลางไปสู่อวกาศเพื่อศึกษาบรรยากาศของดาวอังคาร

วันนี้ (20 ก.ค.2563) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า จรวด H-IIA (H2A) ถูกยิงจากศูนย์อวกาศทาเนงะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งยานโฮป (Hope) ยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และเป็นยานสำรวจดาวอังคารลำแรกของภูมิภาคตะวันออกกลางไปสู่อวกาศ โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งยานลำนี้ขึ้นสู่อวกาศ ทั้งตัวจรวดที่บรรทุกยาน ฐานปล่อยจรวดและการควบคุมการปล่อยจรวด

ภารกิจส่งยานสำรวจดาวอังคารของยูเออี ถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่ในครั้งนี้การปล่อยจรวดเป็นไปอย่างราบรื่น ยานโฮปจะใช้เวลาเดินทางนานประมาณ 7 เดือน ระยะทาง 500 ล้านกิโลเมตร เข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในเดือน ก.พ.2564 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 50 ปีของสถาปนายูเออีและจะเริ่มภารกิจหลักของยานในการศึกษาบรรยากาศของดาวอังคารต่อไป 


ยูเออีมีประสบการณ์ไม่มากนักเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตยานอวกาศ แต่ในครั้งนี้วิศวกรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันและผลิตยานโฮปที่ซับซ้อนในเวลาเพียง 6 ปี และเมื่อยานโฮปเดินทางถึงดาวอังคารคาดว่าจะสามารถส่งมอบวิทยาศาสตร์แนวใหม่ให้โลกได้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้ และในเดือน ก.ค.นี้ ยูเออีมีภารกิจส่งยานอวกาศขึ้นไปสู่ดาวอังคารอีก 2 ลำด้วย

สำหรับยานโฮปได้รับการยกย่องว่าเป็นยานสำหรับแรงบันดาลใจซึ่งยูเออีคาดหวังจะให้เป็นแรงดึงดูดเยาวชนในประเทศและทั่วภูมิภาคอาหรับมีแรงบันดาลใจและสนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยต่อไป

ขณะที่เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้อธิบายรายละเอียดไว้ว่า จรวด H-IIA (H2A) ผลิตและใช้งานโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (MHI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นจรวดที่ให้บริการส่งดาวเทียมและยานอวกาศให้กับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (JAXA)

จรวดเชื้อเพลิงเหลวรุ่นนี้มักจะใช้สำหรับส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า เคยใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 และเคยบรรทุกดาวเทียมเป็นจำนวนมากถึง 8 ดวงในการปล่อยจรวดครั้งเดียว หากนับถึงปัจจุบัน จรวดรุ่นนี้ถูกปล่อยมาแล้ว 41 ครั้ง (ล้มเหลวเพียง 1 ครั้ง) นอกจากนี้ยังเป็นจรวดที่ใช้ในการส่งยานสำรวจวัตถุในระบบสุริยะอื่นๆ อีก เช่น ยานเซลีนีสำรวจดวงจันทร์ ยานอาคัตสึกิสำรวจดาวศุกร์ ยานฮายาบุสะ 2 สำรวจดาวเคราะห์น้อย

ศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ศูนย์ปล่อยจรวดใหญ่สุดในญี่ปุ่น

ส่วนศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ เป็นศูนย์ปล่อยจรวดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ราว 9.7 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะทาเนงาชิมะ เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะคิวซูลงไปประมาณ 115 กิโลเมตร ซึ่งเกาะคิวซูเป็น 1 ใน 4 เกาะใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น

ในศูนย์อวกาศประกอบด้วยฐานสำหรับปล่อยจรวดขนาดใหญ่ อาคารประกอบดาวเทียม อาคารประกอบโครงสร้างภายนอกครอบดาวเทียม และโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ

ศูนย์อวกาศแห่งนี้ถูกใช้ปฏิบัติงานทางเทคโนโลยีอวกาศหลายกระบวนการ อย่างเช่น การประกอบ เชื่อมต่อ ตรวจสอบจรวด รวมถึงการตรวจสอบดาวเทียมขั้นสุดท้าย ติดตั้งดาวเทียมลงในท่อนบนของจรวด ติดตามและควบคุมจรวดที่ถูกปล่อยไปแล้ว ดังนั้น ศูนย์อวกาศแห่งนี้จึงมีบทบาทอย่างมากในการส่งดาวเทียมและยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านอวกาศของญี่ปุ่น



 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง