"แฟลชม็อบ" จากกิจกรรมบันเทิงสู่ชุมนุมการเมือง

การเมือง
20 ต.ค. 63
09:19
20,236
Logo Thai PBS
"แฟลชม็อบ" จากกิจกรรมบันเทิงสู่ชุมนุมการเมือง
เปิดความเป็นมาของ "แฟลชม็อบ" ซึ่งเป็นการรวมตัวในสถานที่หนึ่งอย่างฉับพลัน ส่วนใหญ่จะทำเพื่อจุดประสงค์การบันเทิง ล้อเลียน และแสดงออกทางศิลปะ ก่อนถูกนำมาสู่การรวมตัวแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทย

วันนี้ (20 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "แฟลชม็อบ" หรือม็อบฉับพลัน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนในสถานที่หนึ่งอย่างฉับพลัน เพื่อแสดงสิ่งแปลกตาและดูเหมือนไม่มีจุดมุ่งหมายในช่วงระยะเวลาอันสั้น จากนั้นจึงสลายตัว มักจะทำเพื่อจุดประสงค์การบันเทิง การล้อเลียน หรือการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการนัดกันผ่านสื่อสารโทรคมนาคม เครือข่ายสังคม หรือการส่งอีเมลต่อๆ กัน

แฟลชม็อบ แตกต่างจากม็อบ หรือการชุมนุมทั่วไป ตรงระยะเวลาในการรวมตัวเพื่อแสดงออกที่ไม่ยืดเยื้อ เป็นการลงแรงที่แทบไม่ต้องลงทุน เพราะอาศัยพร้อมเพรียง ซึ่งความสำเร็จไม่ได้อยู่เพียงเสียงตอบรับจากผู้ชมที่รับสารอย่างใกล้ชิดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเท่านั้น แต่พลังจากภาพการรวมตัวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ หลังจากนั้น ยังทำให้ประเด็นที่ต้องการนำเสนอถูกบอกต่อแบบปากต่อปาก จึงไม่แปลกที่แฟลชม็อบจะถูกนำมาปรับใช้ในหลายโอกาส โดยเฉพาะในการชุมนุมทางการเมือง

 

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" ชุมนุมบริเวณแยกเกษตรฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ระบุว่า ศัพท์คำนี้เกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ.2546 โดยทั่วไปไม่ได้ใช้กับเหตุการณ์หรือการแสดงที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เช่น การประท้วง การโฆษณาเชิงพาณิชย์ การจัดฉากโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานประชาสัมพันธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการว่าจ้าง กรณีถ้ามีจุดประสงค์ที่ได้วางแผนไว้เพื่อกิจกรรมทางสังคมดังกล่าวจะเรียกว่า สมาร์ตม็อบ แทน

"แฟลชม็อบ" เกิดครั้งแรกในสหรัฐฯ

รูปแบบการแสดงออกนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 เมื่อ "บิล วาสิก" บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีของสหรัฐฯ กล่าวอ้างว่านัดผู้คนผ่านสังคมออนไลน์มาร่วมปรบมือนาน 15 วินาที ที่เมืองแมนฮัตตัน เพื่อทดลองพลังทางสังคมของสื่อใหม่ ก่อนจะกลายเป็นกิจกรรมแสดงออกร่วมกัน และสื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลเกินคาด ก่อนที่ต่อมา แฟลชม็อบแพร่ระบาดไปทั่วโลก และมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ไล่ตั้งแต่การนัดเอาหมอนมาตีกัน หรือวันตีหมอนนานาชาติ ซึ่งนับว่าเป็นแฟลชม็อบระดับนานาชาติครั้งแรกของโลก และใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้

แฟลชม็อบ ไม่เพียงถูกใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่หลายครั้งแฟลชม็อบยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง เช่น แฟลชม็อบปิดปากที่ ลัตเวีย แสดงความไม่พอใจที่รัฐตัดงบประมาณสื่อวิทยุ หรือในปี พ.ศ.2547 ที่ชาวรัสเซียประมาณ 60 คน ออกมาทำแฟลชม็อบ ด้วยการสวมหน้ากาก วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และใส่เสื้อยืดสกรีนข้อความเชิงเสียดสี และเดินไปบนท้องถนนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ปูติน ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ

ฮ่องกงใช้โมเดลนี้ร้องประชาธิปไตย

หรือที่ใกล้บ้านเราที่สุด คงหนีไม่พ้นฮ่องกง ที่มีการใช้แฟลชม็อบ ชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2562 ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2563 แต่หากย้อนเวลาไปเมื่อปี พ.ศ.2547 เคยเกิดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากในลักษณะเดียวกันกับแฟลชม็อบมาแล้ว ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นชำระประวัติศาสตร์ และยอมรับว่ากระทำการทารุณกรรมชาวจีนในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

การชุมนุมที่ฮ่องกง

การชุมนุมที่ฮ่องกง

การชุมนุมที่ฮ่องกง

ส่วนกิจกรรมแฟลชม็อบที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มเหล่าแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินคนเดียวกันมากที่สุด เช่น ในปี พ.ศ.2554 ที่เมืองบายอน ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของแฟนคลับเลดี้ กาก้า ประมาณ 30,000 คน โดยมีการนัดกันใส่เสื้อผ้าชุดสีขาวแดง มาเต้นตามเลดี้ กาก้า หรือแฟนคลับผู้หญิงประมาณ 100 คน ของ บียอนเซ่ ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ที่นัดใส่ชุดแต่งกายแบบศิลปินในมิวสิกวิดีโอเพลง Single Ladies (Put a Ring on It) และเต้นเป็นจังหวะพร้อมเพรียงกัน เป็นต้น

ไทยมีจุดเริ่มต้นจากแฟนคลับเคป็อป

ขณะที่แฟลชม็อบในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่จะใช้กับกิจกรรมทางการตลาดและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตราสินค้าและผลิตภัณฑ์ แต่ที่เป็นรูปธรรมน่าจะมาจากการที่เหล่าแฟนคลับของวง 2PM หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มฮอตเทสไทย เมื่อปี พ.ศ.2552 ซึ่งมีการนัดแฟนคลับมากกว่า 100 คน มาเต้น บริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เพื่อสนับสนุนให้ ปาร์ก แจ บอม ได้กลับมาเป็นหัวหน้าวง และร่วมทำกิจกรรมกับสมาชิกวงที่เหลือ แต่ไม่เป็นผล ต้องขอลาออก และเดินทางกลับสหรัฐฯ ไป

อย่างไรก็ตาม แฟลชม็อบที่เป็นแฟนคลับศิลปินไม่มีแต่เฉพาะศิลปินเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีการรวมตัวของกลุ่มของแฟนคลับที่ชื่นชอบ เลดี้ กาก้า บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และแม้แต่กลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินวงบอยแบนด์ One Direction ซึ่งรวมตัวกันที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน และในปี พ.ศ.2556 วัยรุ่นกว่า 70 คน นัดรวมตัวกันแต่งเครื่องแบบตามการ์ตูนดังแห่งปี ในกิจกรรม "แฟลชม็อบ ออน ไททัน" บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

แฟลชม็อบแพนด้า ที่จัดขึ้นที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2559

"แฟลชม็อบแพนด้า" ที่จัดขึ้นที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2559

"แฟลชม็อบแพนด้า" ที่จัดขึ้นที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2559

แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างแพนด้า 1,600 ตัว ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลอย่างกระดาษเปเปอร์มาร์เช่ และประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นตัวแทนของแพนด้าที่เหลืออยู่บนโลก ยังถูกนำมาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบตามสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2559 จากความร่วมมือของเซ็นทรัลเอ็มบาสซี องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF แห่งประเทศไทย ด้วยความสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หลังจากรณรงค์ไปยังหลายประเทศทั่วโลก

"อนาคตใหม่" นำมาใช้พรรคแรก

สำหรับแฟลชม็อบ ที่ถูกนำใช้ในทางการเมืองไทย ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นแฟลชม็อบ ที่นำโดยแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ จัดขึ้นในปี พ.ศ.2562 บริเวณสกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ล่าสุด แฟลชม็อบถูกจัดโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" หลังจากแกนนำมีการนัดชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 17 - 19 ต.ค.2563 ที่มีการจัดแฟลชม็อบขึ้นหลายจุด ไม่รวมตัวที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น หลังจากใน 2-3 วันแรกของการชุมนุมมีการปักหลักชุมนุมเพียงสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง จนกว่าจะยุติการชุมนุมไปในแต่ละวัน

 

การชุมนุมที่สกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562

การชุมนุมที่สกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562

การชุมนุมที่สกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562

ทั้งนี้ นับจากวันที่ 17 ต.ค.เป็นต้นไปมา กลุ่มผู้ชุมนุมมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการชุมนุมหลายแห่งพร้อมกัน โดยเน้นสถานที่ตามแนวสถานีรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ที ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกตำรวจควบคุมตัวไปยังสถานที่ควบคุมตัวอย่างเช่น กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้ไม่มีแกนนำการชุมนุมอย่างชัดเจน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง