กทพ.เตรียมสุ่มแจก 500 บาท เข้าบัตร Easy Pass จูงใจอัพเดตข้อมูล

เศรษฐกิจ
17 ก.พ. 64
11:55
765
Logo Thai PBS
กทพ.เตรียมสุ่มแจก 500 บาท เข้าบัตร Easy Pass จูงใจอัพเดตข้อมูล
กทพ.เตรียมออกแคมเปญให้ลูกค้าที่ใช้ Easy-pass กว่า 2 ล้านบัญชี อัพเดตข้อมูลรถเตรียมเข้าระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ฟรีโฟลว์) โดยจะสุ่มแจกเงินเข้าบัตร Easy-pass 500 บาท เริ่มต้น มี.ค.นี้

วันนี้ (17 ก.พ.2564) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่าโครงการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ฟรีโฟลว์) ซึ่ง กทพ.ตั้งเป้าหมายเริ่มเปิดให้บริการใน ก.ค.นี้ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม หรือเป็นการเปิดต่อจากการนำร่องในโครงการดังกล่าวของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะนำร่องใช้ระบบฟรีโฟลว์ ไปก่อนในเดือน มี.ค.นี้ โดย กทพ. จะเริ่มใช้นำร่องใน 3 ด่าน คือ ด่านจตุรโชติ และด่าน สุขาภิบาล 5/1-2

 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใช้รถจะสามารถเริ่มใช้ระบบฟรีโฟลว์ได้นั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลของทะเบียนรถที่ใช้ระบบดังกล่าว ดังนั้น กทพ.จึงเตรียมออกแคมเปญ ในต้นเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้ Easy Pass ซึ่งมีกว่า 2 ล้านบัญชี เข้ามาอัพเดตข้อมูลรถเตรียมเข้าระบบโครงการฟรีโฟลว์ โดยแคมเปญดังกล่าวหากลูกค้า เข้ามาอัพเดตข้อมูลทะเบียนรถแล้ว กทพ.จะมีการสุ่มแจกรางวัล มอบเงินเข้าบัตร Easy Pass 500 บาท จำนวน 1,000 รางวัล โดยลูกค้าที่ใช่ Easy Pass เตรียมติดตามเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวได้

ที่ผ่านมาลูกค้าที่ใช้บัตร Easy Pass ตั้งแต่ซื้อบัตร ก็จะให้ข้อมูลเฉพาะแค่ชื่อและเลขที่บัตรประชาชนเท่านั้น และมีผู้ใช้บางส่วนที่เปลี่ยน Easy-Pass ไปมา กับรถยนต์ที่ตัวเองใช้งาน แต่ระบบฟรีโฟลว์จำเป็นที่ข้อมูลของรถที่ใช้ผ่านด่านจะต้องมีความแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการติดตามเรียกเก็บค่าผ่านทาง หรือข้อมูลอื่น ๆ จึงต้องมีการลงทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มการใช้งานโครงการฟรีโฟลว์ของ กทพ.

ทั้งนี้ โครงการฟรีโฟลว์เป็นการยกไม้กั้นที่ผ่านด่านออกเพื่อทำให้การผ่านด่านทางพิเศษ เกิดความคล่องตัวและเป็นการเก็บค่าผ่านทางที่แตกต่างจากระบบเดิม คือเก็บหลังจากผู้ใช้ทางผ่านด่านแล้ว (Post Paid)

ส่วนการติดตามเก็บค่าผ่านทางทั้งกรมทางหลวง และ กทพ. จะมีการว่าจ้างเอกชนเพื่อมาติดตามเรียกเก็บค่าผ่านทาง โดยเอกชนจะต้องเป็นรายเดียว หรือ Single Platform ทำหน้าที่เรียกเก็บค่าผ่านทางร่วมกันทั้งในส่วนของระบบของกรมทางหลวง และ กทพ. โดยเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บเองในอนาคต

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง