"จิรายุ" ชี้ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอื้อพวกพ้อง

เศรษฐกิจ
18 ก.พ. 64
14:36
1,068
Logo Thai PBS
"จิรายุ" ชี้ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอื้อพวกพ้อง
"จิรายุ" ส.ส.พรรคเพื่อไทย ชี้ รมว.คมนาคม แก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลล้มโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

วันนี้ (18 ก.พ.64) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงการเอื้อประโยชน์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งนายศักดิ์สยามเอื้อประโยชน์พวกพ้อง โดยไม่สนใจข้อกฎหมายและผลประโยชน์ชาติ

นายจิรายุระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีนบุรี-ตลิ่งชัน ระยะ 35 กม.วิ่งฝั่งตะวันออกและส่วนที่ 2 ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นปัญหาจากการเปิดให้เอกชนเข้าประมูลในการดำเนินก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยให้เอกชนร่วมทุน ซึ่งต่อมามีการตั้ง คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนมาตรา 36 โดยรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) ได้ตั้งคณะกรรมการ โดยมีนายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เป็นประธาน และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ สำนักงานอัยการ สำนักงบประมาณ กรมการขนส่งทางราง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมเจ้าท่า คัวแนจาก บ.ที่ปรึกษา รวม 8 คน และได้กำหนดหลักเกณ์ หลายด้าน โดยหลักคือ 1.คุณสมบัติต้องมี 2.เทคนิกก่อสร้าง 3.ผลประโยชน์รัฐ 4.อื่น ๆ หลังจากเห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้เปิดประมูลโดยมีเอกชนเข้าร่วมการประมูล 10 ราย

ต่อมามีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล โดยคณะกรรมการจากสำนักงบประมาณได้ทักท้วงในที่ประชุม แต่ที่ประชุมได้เดินหน้าเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล และ: ต่อมา BTS ร้องไปยังศาลปกครอง และศาลแจ้งให้ยุติการปรับเกณฑ์การประมูล จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง และ คณะกรรมการมาตรา 36 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งและมีมติล้มประมูล โดยไม่รอคำสั่งศาล ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์การประมูลว่า ขอสงวนสิทธิในการยกเลิกโดยให้เหตุผลว่าหลักเกณฑ์ที่ปรับใหม่ดีกว่า

นายจิรายุยังระบุว่า ขอบอกรัฐมนตรีและคนที่อยู่ใต้รัฐมนตรี ให้ระวังตัว เพราะการแก้ไขสัญญา เพราะก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯ รฟท.มาแล้ว จากการแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคาของเอกชนกับการรถไฟแห่งประเทศไทยทำให้การรถไฟเสียหาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกรณีที่นายจิรายุ อภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท หลังจากมีการปรับเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา (เกณฑ์การประเมินใหม่) และยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่ผ่านมาว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) โดยในขณะนี้มีความก้าวหน้า 76% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 เปิดให้บริการช่วง ต.ค.2567

และ 2.ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ในขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่ให้ดำเนินการโครงการรูปแบบ PPP Net Cost รอหาเอกชนมาร่วมลงทุน โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการ เม.ย. 2570 อย่างไรก็ตาม ในส่วนตะวันออกจะเป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธาเป็นหลัก แต่ขณะที่ส่วนตะวันตกจะรวมการเดินรถเข้าไปด้วย ทั้งนี้ หากส่วนตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้จะส่งผลให้ส่วนตะวันออกจะยังไม่เปิดให้บริการ

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงประเด็นการคัดเลือกเอกชนว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีคำสั่งที่ 67/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงได้ทำหนังหารือไปยังสำนักเลขาธิการ ครม. โดยเป็นการอนุมัติหลักการโครงการเท่านั้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และตามหลักธรรมภิบาล

“ผมยืนยันว่าการดำเนินการโดยใช้ราคาและคุณภาพนั้น เพราะเป็นเรื่องการขุดอุโมงค์ และที่ผ่านมาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็มีปัญหา เรื่องสิ่งปลูกสร้างแตกร้าว เช่น มีน้ำรั่วไหลเข้าไปในสถานีสามยอด ทำให้เทคนิคการก่อสร้างมีความสำคัญ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงพื้นที่สำคัญอื่นๆ ส่วนการยกเลิกเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีการสงวนให้มีการยกเลิกได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียได้ และได้มีการหารือสำนักนายกฯ แล้ว พร้อมทั้งสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ภายหลังการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และการคัดเลือกเอกชน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยภายใน ก.พ.นี้ รฟม. จะจัดรับฟังความเห็นความสนใจการลงทุนของภาคเอกชน (Market Sounding) และสาระสำคัญของเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) จากนั้นคณะกรรมคัดเลือกจะเห็นชอบประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาฯ

ขณะเดียวกัน รฟม. จะออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ภายใน มี.ค. 2564 ก่อนที่จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2564 หลังจากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเมินข้อเสนอ-เจรจาต่อรอง ช่วง พ.ค.-ก.ค. 2564 ก่อนส่งต่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ และคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกฯ และลงนามสัญญาภายใน ก.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อยกเลิกการประมูลแล้วคัดเลือกใหม่นั้น จะใช้เวลา 6 เดือน ช่วลลดระยะเวลาได้ 1 ปี หรือหากรอให้ข้อพิพาทถึงที่สุดจะใช้ระยะเวลา 18 เดือน

“ผมขอเรียนชัดเจนว่า ที่กล่าวหาว่า การดำเนินการเอื้อประโยชน์ ผมขอถามกลับว่า เอื้อประโยชน์ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะโครงการนี้ ยังไม่มีการประกาศผลว่าใครชนะ ยังไม่มีการเปิดซอง ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ และท่านนายกฯ สั่งการมาตลอด ผมต้องถามว่า ผิดกฎหมายตรงไหน แล้วเกี่ยวกับรัฐมนตรีว่าคมนาคมตรงไหนที่ไม่กำกับดูแล และผู้อภิปรายท่านเอาข่าวมาปะติดปะต่อ และใช้จินตนาการ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง