เปิดปม : ช่องโหว่แรงงานเถื่อน

สังคม
10 มิ.ย. 64
13:52
339
Logo Thai PBS
เปิดปม : ช่องโหว่แรงงานเถื่อน
เปิดช่องโหว่ลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หลังพบส่วนหนึ่งลอบเข้าไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตทำงาน โดยมีผู้กรอกข้อมูลในแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวในเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จับผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมืองชาวเมียนมาและผู้นำพาในพื้นที่ จ.กาญจนบุรีได้เกือบ 1,000 คน

จากการสอบปากคำพบว่าส่วนใหญ่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย บางส่วนเคยทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องมาก่อน แต่เดินทางกลับประเทศต้นทางในช่วงโควิด-19 ระบาด

 

ที่น่าสนใจคือ ผู้ลักลอบเข้าเมืองหลายคนได้รับแจ้งว่า หากไปถึงที่หมาย สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้อง ทั้งที่ในความเป็นจริงประเทศไทยเปิดให้ลงทะเบียนฯเฉพาะผู้ที่ยังอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวในช่วงนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 ธ.ค. 2563 โดยเปิดให้ลงทะเบียนเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาวและกัมพูชา ที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19

 

สำหรับการลงทะเบียน นายจ้างหรือตัวแทนต้องกรอกข้อมูลของแรงงานลงในแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวในเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 13 ก.พ. 2564 โดยกรอกได้สูงสุด 40 คน จากนั้นจึงนำตัวลูกจ้างไปตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ตรวจร่างกายเพื่อทำประกันสุขภาพและจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล เพื่อทำใบอนุญาตทำงานต่อไป

ผู้ประกอบกิจการจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของขั้นตอนการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว  โดยบอกว่า การกรอกข้อมูลแรงงานลงในแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวสามารถทำได้ แม้เจ้าของข้อมูลไม่อยู่ในประเทศไทย จากนั้นจึงให้บุคคลดังกล่าวลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยโดยให้นายหน้าเป็นผู้นำพา หากเดินทางเข้าประเทศไทยได้สำเร็จ ก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจร่างกายและจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล จนขอใบอนุญาตทำงานได้ เสมือนไม่เคยเดินทางกลับประเทศต้นทางมาก่อน

 

ขั้นตอนเหล่านี้ เดิมทีต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 แต่ภายหลัง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ทำให้แรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ยังสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจร่างกายเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ หากมีการกรอกข้อมูลลงในแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวไว้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 13 ก.พ. 2564

ระบบไม่มีการป้องกันคนที่อยู่ต่างประเทศแล้วให้คนที่อยู่ไทยกรอกข้อมูลรอไว้ เมื่อที่คนอยู่ต่างประเทศลักลอบเข้ามาสำเร็จก็เข้ามาดำเนินการได้ เพราะข้อมูลต่าง ๆ สามารถส่งให้กันได้อยู่แล้ว ชื่อหรือวันเกิดก็แค่โทรถาม รูปก็ส่งทางไลน์ได้ มันก็อยู่ที่คนทำจะเลือกแบบไหน

เมื่อสอบถามเรื่องนี้กับนายไพโรจน์  โชติกเสถียร  อธิบดีกรมการจัดหางาน ทำให้ทราบว่า ในขั้นตอนการลงทะเบียนแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนต่างด้าวซึ่งเป็นเจ้าของรายชื่อที่ลงทะเบียนอาศัยอยู่ในประเทศไทยจริงหรือไม่ แต่จะทราบก็ต่อเมื่อเจ้าของรายชื่อดังกล่าวถูกจับขณะลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทย

กรณีลงทะเบียนฯไว้แล้วเจ้าตัวลักลอบเข้าประเทศภายหลัง อันนี้โดยข้อเท็จจริงเราตรวจสอบไม่ได้ แต่ถ้าตรวจสอบได้ก็คือกรณีลงทะเบียนฯไว้แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเจอว่าลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร แบบนี้การอนุญาตทำงานก็ต้องยกเลิก ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่นอกเงื่อนไขของการอนุญาตตามมติคณะรัฐมนตรี

 

อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลว่า มีรายชื่อที่ลงทะเบียนในแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าวมีประมาณ 650,000 รายชื่อ ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการต่อประมาณ 600,000  รายชื่อ ในจำนวนนี้มีผู้เข้ารับการตรวจหาโควิด-19 แล้ว 330,000 คน ส่วนอีกกว่า 200,000 รายชื่อ ยังไม่ดำเนินการใด ๆ หลังกรอกข้อมูลแบบบัญชีรายชื่อความต้องการคนต่างด้าว  คาดว่าในกลุ่มนี้อาจมีทั้งรายชื่อของผู้ที่อยู่ต่างประเทศและรายชื่อที่ลงทะเบียนซ้ำซ้อน ซึ่งกรมการจัดหางานต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อตัดรายชื่อทิ้งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง