ราชกิจจาฯ ประกาศ "ห้ามชุมนุม-มั่วสุม" เสี่ยงโควิด-19

สังคม
21 ก.ค. 64
11:16
8,238
Logo Thai PBS
ราชกิจจาฯ ประกาศ "ห้ามชุมนุม-มั่วสุม" เสี่ยงโควิด-19
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามไม่ให้ชุมนุม และทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ COVID -19 นอกจากนี้ ยังประกาศให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยปฏิบัติหลักในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8

โดยรายละเอียดของ ฉบับที่ 7 ระบุว่า โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะได้มีการออกข้อห้าม ข้อปฏิบัติ และมาตรการควบคุมต่างๆ มาตามลำดับ แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงจะเกิดภาวะวิกฤติ ด้านสาธารณสุข รัฐบาลจึงได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีมาตรการเพิ่มเติมจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 

รวมทั้ง ได้ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และได้ออกคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 

ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน

หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้

ให้ยกเลิกความในข้อ 3 ของประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่กรณี ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564”

สำหรับการจัดกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

อ่านต้นฉบับ

ส่วนรายละเอียดของ ฉบับที่ 8 ระบุว่า ตามที่ได้มีการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อระงับยังยั้งการแพร่ระบาดและการป้องกันโรค แม้ว่ารัฐบาลจะได้มีการออกข้อห้าม ข้อปฏิบัติมาตรการควบคุมต่าง ๆ และกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์มาตามลำดับ แต่ปรากฎว่ายังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยได้ ประกอบกับมีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ซึ่งแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบ อย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ

อีกทั้งยังคงปรากฎสถานการณ์การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคน ที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย การเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่าง ๆ และการรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทาง อันอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่กระจายของโรค ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงจะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข รวมทั้งให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศที่เกี่ยวข้อง

จึงให้ยกเลิกประกาศ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยปฏิบัติหลักในการปฏิบัติตามมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมในการระงับยับยั้ง การยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และให้พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

อ่านต้นฉบับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ "ห้ามชุมนุม-มั่วสุม" เสี่ยง COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง