สื่อร้องศาลแพ่งสั่งห้ามตร.ใช้ความรุนแรงคุมชุมนุม

สังคม
9 ส.ค. 64
12:54
856
Logo Thai PBS
สื่อร้องศาลแพ่งสั่งห้ามตร.ใช้ความรุนแรงคุมชุมนุม
ภาคีนักกฎหมาย และสื่อมวลชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอให้ศาลสั่งห้ามตำรวจใช้ความรุนแรงในควบคุมผู้ชุมนุม

วันนี้ (9 ส.ค.2564) นายสัญญา เอียดจงดี ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน นำสื่อมวลชนในฐานะโจทก์ในการฟ้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินเพื่อสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม


พร้อมทั้งให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนและให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักสากลเพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค.นี้ ซึ่งคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน มีดังนี้

1.ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน


2.ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สั่งการเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน


3.ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมด้วย


นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ได้นำภาพหลักฐานผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของตำรวจมาเปิดเผยด้วย พร้อมกันนี้สื่อมวลชนจาก VOICE TV ก็ได้สะท้อนถึงผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในวันที่ 7 ส.ค.ก่อนจะเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน


ทั้งนี้ก่อนการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนได้มายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉินและสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลยกคำร้องโดยระบุว่า กรณียังไม่ถึงขั้นการไต่สวนฉุกเฉิน และยังไม่มีเหตุเพียงพอในการสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงจากตำรวจ

จากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ปรากฏว่า มีสื่อมวลชนได้รับผลกระทบและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุม ทำให้วันนี้จำเป็นต้องมายื่นคำร้องอีกครั้ง โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ส.ค.เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาว่าในการชุมนุมวันที่ 10 ส.ค.อาจจะมีการใช้ความรุนแรงอีกหรือไม่ ทั้งหลักฐานชี้ว่าการใช้ความรุนแรงเริ่มจากฝั่งเจ้าหน้าที่และไม่เป็นไปตามขั้นตอนหลักสากลในการควบคุมการชุมนุม


ก่อนหน้านี้ภาคีนักกฎหมาย ก็ได้นำสื่อมวลชนจาก Plus seven , The Matter ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในวันที่ 18 ก.ค.2564 ที่มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายชุมนุมด้วยกันยิงกระสุนยางด้วย โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง