จี้รัฐชัดเจนแก้ปัญหาพลังงานทดแทน

เศรษฐกิจ
29 ส.ค. 54
01:34
17
Logo Thai PBS
จี้รัฐชัดเจนแก้ปัญหาพลังงานทดแทน

หลายฝ่ายห่วงใยการใช้พลังงานทดแทนของไทยที่อาจเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤต หากรัฐใช้นโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว

ทันทีที่เริ่มมาตรการเร่งด่วนยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาน้ำมันเบนซิน 91, น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลถูกลง ทำให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนมาใช้เบนซินแทนแก๊สโซฮอล์ เพราะราคาแทบไม่แตกต่างกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถูกเรียกว่าปรากฏการณ์ตื่นน้ำมัน ซึ่งกรณีนี้ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ระยะสั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความตื่นตัวกับราคาที่ปรับลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น
 
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้ติดตามสถานการณ์การใช้น้ำมันอย่างใกล้ชิดแล้ว โดยเฉพาะปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแผนส่งเสริมปริมาณการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ
 
ส่วนการแก้ปัญหาในเบื้องต้นนั้น นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ส.ค.) จะมีการประชุมผู้บริหารของกรมฯ เพื่อหารือลดภาษีแก๊สโซฮอล์ ที่ขณะนี้จัดเก็บอยู่ที่ 6.30 บาทต่อลิตร โดยอาจลดลงประมาณ 1.50 บาท และอาจเสนอให้มีการปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเบนเซนเป็น 10 บาทต่อลิตร จากที่จัดเก็บอยู่ 7 บาท เพื่อให้ส่วนต่างของราคาขายปลีกของน้ำมัน 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจในการหันกลับมาใช้พลังงานทางเลือก
 
นอกจากนี้กรมสรรพสามิตจะหารือกับกระทรวงพลังงานภายในสัปดาห์นี้ เพื่อขอให้ยืดระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันดีเซลออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งตามมาตรการเดิมนั้นจะสิ้นสุดลงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะมีการพิจารณาสถานการณ์ราคาเดือนต่อเดือน หากยังไม่เหมาะสมก็จะเสนอให้ยืดอายุมาตรการออกไปจนกว่าจะไม่เป็นภาระกับประชาชน
 
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสก่อนหน้านี้ว่า อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นยังไม่มีมาตรการรองรับ ทั้งในส่วนของยอดการใช้น้ำมันเบนซิน ที่อาจกระทบต่อการใช้แก๊สโซฮอล์ และการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล หากราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
 
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน มองปัญหาการจัดการน้ำมันครั้งนี้ว่า หากรัฐดำเนินมาตรการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในระยะสั้น คือ อาจจะไม่เกิน 6 เดือน ก็จะไม่ทำให้พฤติกรรมการใช้น้ำมันของประชาชนเปลี่ยนไปมากนัก
 
ด้านสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดระยะเวลาลดราคาน้ำมันเบนซินอย่างชัดเจนว่า จะมีระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี และควรถือโอกาสนี้ยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ให้เหลือเพียงแก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากขณะนี้มีราคาใกล้เคียงกัน
 
แม้จะมีผลกระทบต่อแก๊สโซฮอล์ แต่ผลกระทบด้านบวกที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ก็อาจจะปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง โดยเฉพาะราคาค่าโดยสาร ทั้งรถโดยสารของ บขส. และ ขสมก.ซึ่งเบื้องต้น นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ส.ค.) จะทำหนังสือไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งบกกลาง เพื่อให้มีการพิจารณาราคาค่าโดยสารใหม่ โดยอาจปรับลดลงจากอัตราเดิม 2 สตางค์ต่อกิโลเมตร
 
ในส่วนของภาคเอกชน นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารแห่งประเทศไทย ยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ บขส. โดยระบุว่า จะยังไม่ปรับลดค่าโดยสารในอัตราที่ บขส.ระบุ เพราะส่วนต่างของราคาน้ำมันยังไม่เท่ากับที่เคยตกลงกับกรมการขนส่งทางบกไว้ ส่วนรายได้จากการปรับลดราคาน้ำมันครั้งนี้ จะนำไปพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ย.นี้
 
ขณะที่นายเทียรโชติ จงพีร์เพียร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสาร ซึ่งจะต้องพิจารณาความเหมาะสม ทั้งราคาที่ควรจะเป็น และราคาที่ผู้ประกอบการยอมรับได้
 
ในส่วนของ ขสมก.มีรายงานว่า วันนี้ (29 ส.ค.) คณะกรรมการ ขสมก.ก็จะมีการพิจารณาลดค่าโดยสารรถเมล์ร้อน หรือสีแดง-ครีม ลงอีก 1 บาท จากที่จัดเก็บอยู่เดิม 7 บาท ในส่วนของรถร่วมบริการเอกชน มีรายงานว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องดังกล่าว แต่มีแนวโน้มว่า ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้ลดค่าโดยสารลง โดยอ้างว่า รถส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีแล้ว การลดราคาน้ำมันจึงไม่ช่วยให้ต้นทุนลดลง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง