ไม่ยุติโชว์ "ช้างว่ายน้ำ" หลังดราม่า Elephant in the Room

สิ่งแวดล้อม
18 ต.ค. 64
16:16
6,767
Logo Thai PBS
ไม่ยุติโชว์ "ช้างว่ายน้ำ" หลังดราม่า Elephant in the Room
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี แจงปมดราม่า Elephant in the Room ช้างในห้อง หลังเจอกระแสทรมานช้างให้ว่ายน้ำโชว์ในห้องกระจก ยืนยันไม่ยุติโชว์ช้างว่ายน้ำ ไม่มีการบังคับ แต่เป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่ว่ายน้ำได้วันละเป็นชั่วโมง สัตวแพทย์ แนะหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

กรณีประเด็นดรามาในโซเชียล หลังปมภาพ Elephant in the Room ช้างในห้องของ Adam Oswell จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขา photojournalism ที่เน้นเรื่องการค้าที่ผิดกฎหมาย การทรมาน และจริยธรรมสัตว์ป่า จากงานประกวดภาพ Wildlife Photographer of the Year Awards 2021 จัดโดย Natural Historical Museum London สหราชอาณาจักร 

วันนี้ (18 ต.ค.2564) นายเทวินทร์ รัตนะวงศวัต ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก ที่ช้างว่ายน้ำของสวนสัตว์ ถูกมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ โดยขณะนี้มีช้าง 2 เชือกจาก 10 เชือกที่จะลงว่ายน้ำในสระกระจกลึก 4 เมตรให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้พฤติกรรมของช้างว่ายอย่างใกล้ชิด 

ผอ.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กล่าวว่า ปกติช้างจะหมุนเวียนกันไปเล่นน้ำ โดยธรรมชาติของเขา ลงว่ายน้ำ เล่นน้ำ ส่วนบ่อที่ช้างไปเล่นน้ำบ่อที่ 2 จะมีน้ำใส นักท่องเที่ยวสามารถลงไปนั่งมองในตู้กระจกจำกัดแค่ 50 คนต่อรอบ เพื่อเว้นระยะห่าง 

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

 

โดยตอนนี้มีช้างโชว์ 2 เชือก พลายเขาเขียว และพังจิ๋ม ที่จะไปเล่นน้ำในตู้กระจกวันละ 2 รอบๆละ 1 เชือกครั้งละ 30 นาที ปกติช้างสามารถดำน้ำว่ายน้ำได้ และชอบเล่นน้ำในธรรมชาติจะนอนแช่น้ำในป่าครั้งละเป็นชั่วโมงๆ

ยืนยันว่าช้างที่เล่นน้ำ ไม่ได้ถูกบังคับให้แสดง เพราะไม่มีควาญช้างลงไปขี่คอลงว่ายน้ำ แต่ปล่อยให้ช้างดำผุดดำว่ายตามพฤติกรรมของช้างเอง และจะให้อาหารเป็นรางวัล โดยควาญคอยดูแลใกล้ชิด เพื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่

นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับช้างบางตัวอายุ 70 ปีก็จะไม่ได้ให้อยู่ในพื้นที่แคบๆมีการพาเดิน และให้ทำกิจกรรมอื่นๆ และสัตว์ทุกตัวทุกตัวที่อยู่ในความดูแลของเขาเขียว ได้รับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างดีตามมาตรฐานของ WAZA และ SEAZA รับรองมาตรฐาน

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ทำไมต้องดูช้างผ่านตู้กระจก?

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมสวนสัตว์ ต้องให้ดูช้างผ่านห้องกระจก นายเทวินทร์ กล่าวว่า  การจับช้างมาใส่ตู้ น่าจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะความเป็นจริง สวนสัตว์จัดพื้นที่กว้างขวาง เพียงพอให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ พร้อมควาญช้างคอยดูแลให้ช้างได้เดินออกกำลังกายทำให้สัตว์ไม่เครียด และบ่อน้ำให้ช้างได้ลงเล่นน้ำ การลงเล่นน้ำเป็นธรรมชาติของช้าง ช้างสามารถลอยตัวในน้ำและหายใจด้วยงวง ช้างสามารถว่ายน้ำได้ไกล การลงอาบน้ำยังช่วยกำจัดแมลง สิ่งสกปรกบนตัวช้าง ให้ผิวหนังมีสุขภาพดีด้ว

การที่ให้นักท่องเที่ยวเห็นผ่านกระจก คือจะเห็นพฤติกรรมช้างขณะว่ายน้ำนั้น เป็นเรื่องพิเศษหาเรียนรู้ได้ยาก โดยเฉพาะเด็กๆจได้เรียนรู้พฤติกรรม การเคลื่อนไหวของช้างว่ายน้ำอย่างใกล้ชิด มีวิทยากรเล่าเรื่องราวชีวิต พฤติกรรม ชีววิทยาของช้างให้เด็กๆเรียนรู้ เกิดความรักและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆครอบครัวร่วมกันอนุรักษ์ช้างไทย

ยังไม่มีการยุติการให้ช้างว่ายน้ำ อยากให้ต้องคุยกันด้วยหลักเหตุผล เพราะไม่ได้บังคับช้างหรือทรมานช้างตามที่ถูกสื่อออกไป แต่การว่ายน้ำ เป็นพฤติกรรมธรรมชาติที่ช้างทำอยู่ 

ขณะนี้สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวจำกัดวันละไม่เกิน 3,000 คนต่อวัน ซึ่งตัวเลขลดลงจากก่อน COVID-19 ประมาณ 2 เท่า เพื่อให้มีระยะห่าง และยังคงมาตรการความปลอดภัยและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ทุกตัว 

ฟังรอบด้าน "ปัญหาช้าง"

ขณะที่ รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยา ลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อมูลเฟซบุ๊กChatchote Thitaram ระบุว่า Elephant in the Room ช้างในห้อง: ปัญหาใหญ่ที่ทำเป็นมองไม่เห็น หรือ การไม่มองสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง 

Elephant in the Room หรือ ช้างในห้อง ซึ่งเป็นสำนวนภาษาฝรั่งที่ไม่ได้มีความหมายถึงช้างโดยตรง แต่เป็นการเปรียบเทียบ คำถามหรือ อุปมาอุปมัย ประเด็นขัดแย้ง หมายถึง เรื่องจริงหรือปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น แบบที่เห็นช้างอยู่ต่อหน้าต่อตา แต่คนในห้องกลับปล่อยละเลยโดยเจตนา ตั้งใจทำเป็นมองไม่เห็น เรื่องนี้กำลังเป็นที่โด่งดัง และมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์

โดยภาพถ่าย ชื่อ “Elephant in the Room” โดย Adam Oswell จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขา photojournalism ที่เน้นเรื่องการค้าที่ผิดกฎหมาย การทรมาน และจริยธรรม สัตว์ป่า จากงานประกวดภาพ Wildlife Photographer of the Year Awards 2021 จัดโดย Natural Historical Museum London สหราชอาณาจักร

เรื่องช้างเล่นน้ำเคยถูกโจมตีจากกลุ่มพิทักษ์สัตว์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนต.ค.2561 โดยครั้งนั้นทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วครั้งหนึ่ง ข่าวที่ออกมาปัจจุบันนี้ ทำให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาชี้แจงทันทีผ่านทางเฟซบุ๊ก ถึงบทบาทและหน้าที่ขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะงานต่างๆที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้าง เช่น การจัดตั้งคชอาณาจักรที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนในเมืองใหญ่งานวิจัยเกี่ยวกับช้าง ทั้งโภชนาการ และ ระบบสืบพันธุ์ การดูแลสุขภาพโดยสัตวแพทย์

การเล่นน้ำในสระว่ายน้ำที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียวตามที่เป็นภาพ ซึ่งถือเป็นการฝึกในเชิงบวก (positive reinforcement) คือการให้รางวัลเมื่อแสดงพฤติกรรมได้ถูกต้อง เลือกลงน้ำได้เอง ไม่มีใครบังคับ นี่คือการให้ทางเลือกกับสัตว์ และเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมของสัตว์ เพื่อให้สัตว์แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งช้างกับน้ำเป็นของคู่กัน ช้างชอบเล่นน้ำมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกตามพฤติกรรมตามธรรมชาติ ของหลักสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักมาตรฐานสากล ขอบเขตของสวัสดิภาพ 5 ประการ (Five Domains Model) ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก

 

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

แนะหาข้อมูลวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาช้างว่ายน้ำโชว์

ในส่วนของช้างบ้านมีกฎหมายออกมา เพื่อดูแลช้างบ้านที่มีอยู่ห้มีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด เช่น ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ.2563 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าการเกษตร:การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง พ.ศ.2564 และ ยังจะมี พ.ร.บ.ช้าง ออกมาอีกในอนาคตอันใกล้นี้

เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่พยายามปรับปรุงแก้ไขกันอยู่ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่ถึงต่างประเทศ หรือ อาจจะถึงแต่ไม่เปิดใจรับฟัง เพราะตั้งธงไว้แล้วว่า ช้าง คือสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่าเท่านั้น อยู่กับคนไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องของช้างบ้าน เช่น การหย่านมเพื่อฝึก การใช้ขอและโซ่ในการควบคุมบังคับ การขี่ช้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีงานศึกษา วิจัยและคำอธิบายมารองรับแล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชนมากเท่าที่ควร หรือไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากเปิดใจรับฟัง

อาจารย์ฉัตรโชติ ระบุว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าควาญที่ดูแลช้าง และสถานที่ที่ดูแลช้างบ้านจะดีเสมอไป บางครั้งก็มีการกระทำเกินกว่าเหตุและดูโหดร้ายเช่นเดียวกัน ทำให้คนในสังคมไทยที่ยังคุ้นชินกับการเลี้ยงดูช้างแบบไทยๆ ยังมองว่าโหดร้าย จะนับอะไรกับฝรั่งรักสัตว์ที่เข้ามาในไทยแล้วเห็นภาพการดูแลช้างที่ไม่คุ้นชิน และมองว่าเป็นการทรมานสัตว์

ดังนั้นการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และการปฏิบัติที่ดีสำหรับสถานที่เลี้ยงช้างให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเราก็มีกฎหมายออกมารองรับแล้ว ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

อยากให้ทุกคนเปิดความคิดให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นทั้งจากทางฝรั่ง และจากทางไทย และเรียนรู้ตามความเป็นจริง ไม่ไปตามกระแส ไม่ตามดราม่า โดยเฉพาะกรณีที่มีงานศึกษาวิจัย ข้อมูลทางวิทยา ศาสตร์ มารองรับจะเป็นการยืนยันได้ดี เพื่อการตัดสินใจของตัวเอง ฟังฝรั่งมากเกินไป จะสิ้นความเป็นไทยไปได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เขาเขียว" แจงช้างว่ายน้ำ แค่ออกกำลังกาย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง