สหรัฐฯ ออกระเบียบความปลอดภัยเสื้อผ้าเด็กที่มีเชือกผูก

ต่างประเทศ
29 ส.ค. 54
17:18
7
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ ออกระเบียบความปลอดภัยเสื้อผ้าเด็กที่มีเชือกผูก

นายสุรศักดิ์  เรียงเครือ  รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554  คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product Safety Commission : CPSC) ของสหรัฐฯ  ได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย the Consumer Product Safety Improvement Act (CPSIA) (16 CFR 1120) สำหรับเสื้อผ้าเด็กที่มีเชือกผูกคอ ที่หมวกคลุมศีรษะ     ที่เอวหรือบริเวณขอบด้านล่างของเสื้อ  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2554  มีสาระสำคัญ

1. เสื้อผ้าสำหรับเด็กที่ใช้สวมชั้นนอก เช่น เสื้อแจ๊กเก็ต และ เสื้อสวมทับกันหนาว  ซึ่งมีเชือกผูกที่คอหรือที่หมวกคลุมศีรษะ (ขนาดตัวเสื้อ 2T ถึง 12) และเสื้อที่มีเชือกผูกที่เอวหรือบริเวณขอบด้านล่างของเสื้อ (ขนาดตัวเสื้อ 2T ถึง 16) ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ASTM F1816-97 หากไม่ผลิตตามมาตรฐานดังกล่าว จะถือเป็นสินค้าอันตราย
 
2. กำหนดคำจำกัดความ “drawstring” ได้แก่ เชือกที่ไม่สามารถหดกลับเองได้  สายริบบิ้น  สายเทป  ที่ใช้สำหรับดึงเข้าหากันเพื่อปิดบนตัวเสื้อสวมชั้นนอก รวมถึง เนคไท
 
3. กำหนดขนาดเสื้อผ้าเด็กหญิงและเด็กชาย ขนาด L เท่ากับเบอร์ 12 และขนาด XL เท่ากับเบอร์ 16
 
4. การติดฉลากบนเสื้อผ้าเด็ก ไม่จำเป็นต้องระบุว่าสำหรับ “boys” หรือ “girls”

 นอกจากนี้  รัฐนิวยอร์ค และวิสคอนซิน ก็ได้กำหนดกฎระเบียบในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้  หากพบว่าสินค้าดังกล่าวมีความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการใช้สินค้า หรือไม่เป็นไปตามระเบียบ 16 CFR 1120 ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ค้าปลีก จะต้องรายงานต่อ CPSC  ภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย และ CPSC สามารถสั่งให้ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย/ผู้ค้าปลีก คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคหรือแก้ไขข้อบกพร่องของสินค้า หรือเปลี่ยนสินค้าให้ผู้บริโภค  รวมถึงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอันตรายดังกล่าวมายังสหรัฐฯ อีกด้วย

นายสุรศักดิ์  กล่าวว่าไทยส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กเล็กไปสหรัฐฯ  โดยเฉลี่ย (2551-2553) มูลค่า 418 ล้านบาท และในปี 2554 (ม.ค.-มิ.ย.) ส่งออกมูลค่า 234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553  โดยในปี 2553 ส่งออกมูลค่า 342 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 2552

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง