เกษตรกรหันมาเลี้ยงหมูป่าหลังเผชิญโรคระบาด

ภูมิภาค
30 ม.ค. 65
19:22
1,894
Logo Thai PBS
เกษตรกรหันมาเลี้ยงหมูป่าหลังเผชิญโรคระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังเกิดโรคระบาดหมูเมื่อปีที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยต้องขาดทุนเพราะหมูตายยกคอก ปีนี้เกษตกรใน จ.กาฬสินธุ์ส่วนหนึ่งเริ่มปรับตัว หันมาเลี้ยงหมูป่า หลังพบว่าตลาดเริ่มขยายตัว

ปัจจุบันมีความต้องการซื้อหมูป่าทั้งเพื่อส่งร้านทำหมูหัน ร้านอาหาร และเข้าโรงเชือดจำหน่ายเนื้อสดเพิ่มขึ้น เกษตรกรบอกว่าหมูป่าเลี้ยงง่าย ทนโรค และต้นทุนน้อยกว่าหมูขาว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากนี้บางส่วน ก็หันมาเพาะพันธุ์หมูป่าขายในกลุ่มที่ชื่นชอบการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และการอนุรักษ์ ทำให้ต้นปีนี้ยิ้มได้ กลับมามีรายได้อีกครั้ง



“ปีที่แล้วหมูตายยกคอก เสียใจมาก เลยหาตลาดใหม่ หาสายพันธุ์ที่ทนโรค เลยเลี้ยงเลือดสูง กับหมูป่าเลือดร้อย เมื่อตั้งหลักได้ พบว่าตลาดเปิดกว่า แล้วคนที่ต้องการอนุรักษ์มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนวัยทำงาน วัยรุ่น หันมาชอบในการเลี้ยงหมู อีกอย่างหนึ่งเราสามารถกำหนดราคาได้ โดยที่ไม่มีพ่อค้าคนกลางมากดราคาหมูเรา” ศิริพรรณ สิงหมาตร กล่าว

 



เธอและสมาชิกครอบครัว ช่วยกันเพาะเลี้ยงหมูป่าแท้ หรือที่เรียกกันว่า หมูป่าเลือดร้อย ในคอกที่มีมุ้งกันแมลง ป้องกันโรคระบาด แม้รู้ว่าหมูป่าทนโรค แต่เพราะว่ากลางปีที่แล้ว หมูพันธุ์ผสมที่เลี้ยงไว้กว่า 70 ตัวทยอยติดโรคตายยกคอกขาดทุนกว่า 2 แสนบาท


เธอจึงตัดสินใจ ย้ายมาสร้างคอกใหม่ ที่ ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เริ่มเพาะพันธุ์หมูป่าแท้อย่างจริงจัง และพบว่ามีกลุ่มที่สนใจเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์ อย่างเพจเฟซบุ๊ก เพื่อติดต่อสื่อสาร ได้เห็นภาพและคลิปวิดีโอความน่ารักของหมูป่า ก่อนตัดสินใจตกลงซื้อในราคาที่กำหนดเองได้

 


จากฟาร์มหมูป่าที่ อ.กมลาไสย ทีมข่าวเดินทางต่อมายัง อ.เขาวง ที่นี่มีร้านจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน หนึ่งในเมนูสำคัญปรุงด้วยเนื้อหมูป่า ทั้งหมูหันหนังกรอบๆ รสชาติดี มันน้อย ส่วนผัดเผ็ดเครื่องแกงสูตรภูไทรสจัดจ้าน และทอดหมูสมุนไพร กำลังได้รับความนิยม มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

 

 

และยังมีเนื้อสด หรือเนื้อหมักเครื่องแกง เพื่อความสะดวกในการปรุงอาหาร เตรียมส่งขายให้ลูกค้าต่างจังหวัดอีกด้วย

 

 


แต่ ชัชชัย อักษรศักดิ์ เจ้าของร้านอาหารคนนี้ไม่ได้แค่ทำหน้าที่ขายอาหาร เพราะเขาจะลงพื้นที่ไปหาเกษตรกร สร้างเครือข่ายเพาะเลี้ยงหมูป่า พัฒนาสายพันธ์ุให้ลูกดก ทนโรค ซึ่งเขารับซื้อเอง และส่งเข้าโรงเชือดที่ได้มาตรฐานใน อ.เขาวง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเลี้ยงหมูให้มีคุณภาพ ตามความต้องการของตลาด โดยไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

 

สาวิตรี จ้ำก้าว เกษตรกร ต.หนองผือ อ.เขาวง บอกว่า เธอมีรายได้จากการขายหมูป่า ส่งให้ร้านหมูหันในพื้นที่ และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งโรงเชือดและร้านอาหารในหลายจังหวัด รายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท มากกว่าการเลี้ยงหมูขาว ที่สำคัญคือต้นทุนค่าอาหารน้อยกว่า เพราะหมูป่าสามารถปลูกหญ้าและต้นกล้วยให้กินได้

เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มผู้เลี้ยงหมูป่าในหลายจังหวัดภาคอีสาน เริ่มรวมตัวกัน สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาการเลี้ยง พวกเขาเชื่อว่าหากภาครัฐส่งเสริมและช่วยขยายตลาดอย่างจริงจัง จะทำให้อาชีพเลี้ยงหมูป่าสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งหลายคนต้องเลิกเลี้ยงหมูเพราะโรคระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง