สุดยื้อ ช้างป่า “พังยายเกตุ” เตรียมผ่าพิสูจน์หาสาเหตุตาย

สิ่งแวดล้อม
18 มี.ค. 65
11:47
349
Logo Thai PBS
สุดยื้อ ช้างป่า “พังยายเกตุ” เตรียมผ่าพิสูจน์หาสาเหตุตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์สุดยื้อ ช้างป่าชรา “พังยายเกตุ” อายุ 60 ปี พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดและผ่าซากหาสาเหตุการตาย ที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 ขณะที่หมอล็อตโพสต์ขอบคุณที่ทำหน้าที่นางงามมิตรภาพ 1 ปี 3 เดือน สอนให้เข้าใจการปรับตัวอยู่ร่วมกันระหว่างคน-ช้างป่า

วันที่ 17 มี.ค.2565 น.ส.มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ได้รับแจ้งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ว่า ช้างป่า “พังยายเกตุ” ล้มนั่งแล้วลุกขึ้นไม่ได้ จึงเข้าทำการช่วยเหลือ

เมื่อถึงจุดเกิดเหตุพบว่า พังยายเกตุล้มนั่งคู้ตัว อ้าปากหายใจ มีอาการหายใจลำบาก ท้องมีขนาดขยายใหญ่ทั้ง 2 ข้าง สัตวแพทย์ สัตวบาลและเจ้าหน้าที่ ขสป.เขาอ่างฤาไน พยายามช่วยกันจัดท่าใหม่เพื่อให้หายใจได้ดีขึ้น แต่ปรากฏว่า พังยายเกตุได้ตายเมื่อเวลา 15.26 น. สัตวแพทย์ได้ให้ยากระตุ้นเพื่อช่วยชีวิต แต่ไม่มีสัญญาณชีพกลับมา ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างเลือด และจะทำการผ่าซาก ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ต่อไป

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

"พังยายเกตุ" นางงามมิตรภาพ ขวัญใจหมู่บ้าน

ขณะที่นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "นางงามมิตรภาพ…ครบวาระ" ภูมิใจกับตำแหน่งที่ลูกหลานต้องสานต่อ คุณยายเกตุ กับการทำหน้าที่ของนางงามมิตรภาพ 1 ปี 3 เดือน ที่น่าภาคภูมิใจแห่งชนิดพันธุ์ ขอบพระคุณที่ได้ทำให้มนุษย์ได้เห็นว่า การมาของช้างป่าตัวหนึ่ง หมู่บ้านได้อะไรที่มากกว่าที่เสีย หากเข้าใจกัน ปรับตัวในการอยู่รวมกัน อย่าเศร้าโศก ที่เราทำให้ทุก ๆ วันของยายมีความสุข จงภูมิใจในตัวยายที่ได้ทำหน้าที่ และช่วยกันสานต่อเจตนารมณ์ของยายนะครับ ท่านอนก่อนที่ยายหลับ คือท่าสุนัขหมอบ เหมือนกับช้างป่าหลายตัวตามธรรมชาติที่หลับไปอย่างสงบ"

สำหรับ “พังยายเกตุ” เป็นช้างป่าชราภาพ เพศเมีย อายุราว 60 ปี มีสภาพร่างกายไม่สามารถดำรงชีวิตในป่ากับฝูงได้ และยังพบตาข้างขวาบอดสนิท และหูตึง ซึ่งเปรียบเสมือนคนชรา โดยชื่อ “ยายเกตุ” ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวบ้าน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ คอยผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล นำอาหาร กล้วย อ้อย มะละกอ และขนุน ที่ปลูกตามสวนมาสนับสนุนเป็นอาหาร และช่วยกันดูแลจนสิ้นอายุขัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง