"ดีอีเอส-สกมช." ยืนยันเว็บ ป.ป.ช.ไม่ได้ถูกเเฮก ระบบยังปลอดภัย

สังคม
21 เม.ย. 65
14:49
267
Logo Thai PBS
"ดีอีเอส-สกมช." ยืนยันเว็บ ป.ป.ช.ไม่ได้ถูกเเฮก ระบบยังปลอดภัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.ดีอีเอส-สกมช.แถลงย้ำเว็บไซต์ ป.ป.ช.ไม่ถูกเเฮก ข้อมูลที่รั่วไหลเป็นข้อมูลที่เปิดเผยตามกฎหมาย ยืนยันระบบป้องกันยังมีความมั่นคงปลอดภัย

วันนี้ (21 เม.ย.2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวกรณีเว็บไซต์สํานักงาน ป.ป.ช.มีข้อมูลรั่วไหล โดยระบุว่า กรณีมีการนําเสนอข่าวมีข้อมูลทรัพย์สิน 780 บัญชี-เรื่องชี้มูล 1,366 คดี รั่วไหลไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นของภาคเอกชน ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเว็บไซด์ถูกแฮก ซึ่งกระทรวงดีอีเอส และสํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแล้วพบว่า

ไม่ได้ถูกแฮก ไม่ได้ถูกโจมตี ระบบของ ป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย

พร้อมระบุว่า ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปเป็นข้อมูลที่ ป.ป.ช.เปิดเผยตามกฎหมาย บัญชีทรัพย์สิน ข้อมูลมติชี้มูลความผิด ซึ่ง ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้ว แต่มีบุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของกลุ่มบุคคลนั้น ซึ่งทำให้เกิดความสับสน ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน บิดเบือน เปลี่ยนแปลง ป.ป.ช.จึงได้แจ้งเตือนไม่ให้นำข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวไปใช้ และขอให้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.เท่านั้น

ด้าน น.อ.เอกอมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ ผอ.ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในกรณีต่างๆ ได้ตรวจสอบพบเจอเหตุการณ์นี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ม.ค. หลังจากนั้นได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อให้มั่นใจว่าจากข้อมูลที่พบเจอนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ซึ่งตัวเว็บไซต์ รวมทั้งระบบต่างๆ ของ ป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย แต่สิ่งที่ถูกสื่อออกไปว่ามีการถูกแฮกนั้น เกิดขึ้นกับตัวระบบของหน่วยงานอื่นที่ได้ดูดข้อมูลนี้ไปแล้วก่อให้เกิดการเข้าใจผิด

เพราะฉะนั้น ตัวองค์กรที่เกี่ยวข้องยังมีความมั่นคงปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม สกมช.กับดีอีจะเตรียมการและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต

นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงดีอีเอส และสำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะเฝ้าระวังติดตามปัญหาภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ เพื่อไม่ให้ถูกโจมตีในหน่อยงานของรัฐทั้งหมด หากหน่วยงานหรือประชาชนถูกโจมตี หรือมีปัญหาถูกแฮกต่างๆ สามารถติดต่อศูนย์เตือนภัยเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เจ้าหน้าที่ NCERT และ ncsa.or.th มีหน่อยงานรับเรื่องร้องเรียนและช่วยประสานงานตลอดเวลา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง