"ตะเกียบไฟฟ้า" เพิ่มรสเค็ม 1.5 เท่า ช่วยลดการบริโภคเกลือ

Logo Thai PBS
"ตะเกียบไฟฟ้า" เพิ่มรสเค็ม 1.5 เท่า ช่วยลดการบริโภคเกลือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาตะเกียบไฟฟ้า เพิ่มรสเค็มให้กับอาหารได้ 1.5 เท่าโดยไม่ต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดการบริโภคเกลือให้น้อยลง

นักวิจัยจากมหาวิทยาเมจิ ได้ร่วมกับบริษัทผลิตเครื่องดื่ม ในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาตะเกียบไฟฟ้าที่ทำให้อาหารมีรสชาติเค็มโดยไม่ต้องเติมเกลือ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติเค็มกว่าเดิมถึง 1.5 เท่า วิธีการนี้จะเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และลดการบริโภคเกลือปรุงรสให้น้อยลง

รสเค็มเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารแต่ละจานมีรสชาติอร่อยมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศัตรูตัวร้ายที่จะทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและความดันโลหิตสูงที่ต้องลดอาหารที่มีรสเค็ม เพื่อไม่ให้อวัยวะสำคัญต้องทำงานหนักไปมากกว่าเดิม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้ ก็ต้องระวังไม่ให้ทานอาหารที่มีรสเค็มมากจนเกินไป

ศาสตราจารย์ Homei Miyashita จากมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกับบริษัท Kirin Holdings Co. ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ โดยพัฒนาตะเกียบที่ให้รสเค็มเสมือน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้เกลือในการปรุงอาหารแต่ละมื้อลง แต่ยังคงรับรสเค็มได้เท่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใส่เกลือจำนวนมาก วิธีการนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนรักสุขภาพที่ยังคงติดรสเค็ม หรือผู้ป่วยที่ต้องลดปริมาณการบริโภคเกลือ เรียกว่าได้รสอร่อยโดยไม่ทำร้ายสุขภาพ

ตะเกียบไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มรสเค็มให้กับอาหารได้ 1.5 เท่า โดยทำงานผ่านสายไฟที่ปลายตะเกียบข้างหนึ่ง ซึ่งต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่บริเวณข้อมือของผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของตะเกียบ ด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยดึงไอออนโซเดียมของเกลือที่อยู่ในอาหาร ให้มีรสชาติที่เข้มข้นมากขึ้น ผู้บริโภคจึงรับรสความเค็มได้มากขึ้น แม้ว่าจะใส่เกลือในปริมาณที่น้อยลง

ตะเกียบไฟฟ้าเพิ่มรสเค็ม ยังอยู่ในการขั้นตอนของการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน ซึ่งคาดว่าพร้อมจะวางจำหน่ายในช่วงต้นปีหน้า และมาพร้อมกับขนาดที่เล็กลง มีรูปแบบที่เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น 

ที่มาข้อมูลและภาพ: kirinholdings, theguardian, reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง