บทวิเคราะห์ : ถอยดีกว่าปมร้อน GT 200

การเมือง
8 มิ.ย. 65
15:53
310
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ถอยดีกว่าปมร้อน GT 200
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หน่วยงานภาครัฐของไทย โดยเฉพาะกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงหลายหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด คดีจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 รวม 20 สำนวน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 100 ราย ถูกชี้มูลทั้งความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาเป็นระดับนายพล ความผิดทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อเสียหายร้ายแรง

ที่น่าสนใจ คือกองทัพบก สมัย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผบ.ทบ. ขณะนั้นได้ทดลองใช้เครื่องตรวจ GT200 ปรากฏว่า ตรวจพบอาวุธในมัสยิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา จึงเชื่อแต่นั้นว่า GT200 ใช้การได้จริง ต่อมากองทัพบกได้สั่งซื้อจำนวนมาก ในช่วงปี 51-52 สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผบ.ทบ.มีการสั่งซื้อเครื่อง GT 200 รวม 541 เครื่อง มากที่สุดในหน่วยงานรัฐที่มีการสั่งซื้อ

แต่เพราะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมาย ว่า GT 200 ใช้ไม่ได้ผลจริง ไม่มีกลไกการทำงานในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ปรากฏมีการแผ่รังสีจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแต่อย่างใด

แกะกล่องเสร็จ ประกอบชิ้นส่วน 2 ชิ้นเข้าด้วยกันแล้วเสียบการ์ด จากนั้นสามารถนำไปใช้งานได้เลย ไม่ต้องมีการชาร์ตไฟ ขณะที่ราคาซื้อของแต่ละหน่วยงานก็ไม่เท่ากัน มีตั้งแต่เครื่องละ 500,000 ถึง 1,600,000 บาท

ที่สำคัญจะมีผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพ GT200 และ ALPHA 6 โดยมี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็นกรรมการตรวจ ผลทดสอบ 10 ครั้ง ออกมาในทางลบ ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยได้ไม่ถึงครึ่ง พอ ๆ กับการเดาสุ่มตรวจ จึงสรุปว่าเครื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่อวดอ้าง ในที่สุด กองทัพบกจึงต้องสั่งเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดจากการใช้งาน

ความจริงการเป็นอุปกรณ์ลวงโลกของอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิด เด่นชัด 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ตัวการผู้ผลิต ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ข้อหาจำหน่ายและผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ในปี 2556

ส่วนผู้ก่อตั้งบริษัท โกลบอล เทคนิคัล ที่จำหน่าย GT 200 ก็ถูกศาลอังกฤษสั่งจำคุก 7 ปี ในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน ในข้อหาฉ้อโกง หลอกขายให้แก่ลูกค้าทั่วโลก

สำหรับในไทย หลังจากคดีเรื่องนี้ยืดเยื้อไปมาอยู่นาน ในที่สุด 1 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ฟ้องว่า เครื่อง GT 200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ

พิพากษาให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม ผู้ชนะประมูลขาย GT 200 ให้กองทัพบก ต้องชำระเงินคืนให้กองทัพบก 683.4 ล้านบาท แม้ต่อมาผู้ถูกร้องจะยื่นอุทธรณ์ แต่สุดท้ายก็ถอนอุทธรณ์ในที่สุด

เป็นที่มาของคำพูดสรุปคดีนี้ของนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันก่อนว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดให้ถอนอุทธรณ์ หมายความว่าคำพิพากษาที่ศาลปกครองกลางตัดสินให้ บริษัท เอวิเอ แซทคอม ต้องจ่ายเงินคืนให้กองทัพบก 683.4 ล้านบาท เป็นอันสิ้นสุดแล้ว

การจะตรวจสอบรายละเอียดเครื่อง GT 200 โดยอ้างถึงสาเหตุที่ต้องว่าจ้าง สวทช. ให้แกะกล่องตรวจทั้ง 757 เครื่อง รวมเงิน 7.57 ล้านบาท จึงไม่ใช่นัยยะสำคัญ

เท่ากับมหากาพย์เรื่องนี้ ปิดฉากในชั้นคดีมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่กลับมีการ “ขุดกรุ”เรื่อง GT 200 ขึ้นมาใหม่ และแปลกที่ไม่รู้ถูกปลุกคืนชีพได้อย่างไร

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง