ถอดรหัสการศึกษาไทยจาก "จดหมาย ร.ร.ถึงผู้ปกครอง" อย่ากดดันผลสอบ

สังคม
31 ส.ค. 65
05:50
1,014
Logo Thai PBS
ถอดรหัสการศึกษาไทยจาก "จดหมาย ร.ร.ถึงผู้ปกครอง" อย่ากดดันผลสอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถอดรหัสการศึกษาไทยจาก "จดหมาย ร.ร.ถึงผู้ปกครอง" อย่ากดดันผลสอบ ผ่านมุมมองนักวิชาการด้านการศึกษา การสอบที่เหมือนตะแกรงร่อนเด็ก และระบบหลักสูตรที่บังคับให้เรียนวิชาที่ไม่สนใจกลายเป็นแรงกดดันที่โรงเรียนและผู้ปกครองต้องจับมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

จากกรณีโรงเรียนสิริรัตนาธร เขตบางนา กทม.ส่งหนังสือแจ้งกำหนดสอบปลายภาค พร้อมสื่อสารถึงผู้ปกครองปรับมุมมอง อย่ากดดันลูกเรื่องผลสอบ เน้นให้กำลังใจ เพราะการสอบเพียงครั้งเดียว ไม่สามารถช่วงชิงความฝันและพรสวรรค์ของเขาไปได้

อ่านเพิ่มเติม : มิติใหม่! ร.ร.ขอพ่อแม่อย่ากดดัน-ให้กำลังใจลูก ผ่านเอกสารแจ้งวันสอบ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สะท้อนมุมมองในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษากับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ แม้จะเป็นจดหมายราชการเล็ก ๆ แต่มีพลังมหาศาล ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการโรงเรียนว่า มีความเข้าใจเรื่องระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ และไม่มองการวัดผลเป็นตัวกำกับชีวิตของนักเรียนเกินไป นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องและชมเชย และอยากให้เป็นแบบอย่างของผู้บริหารโรงเรียนอื่น ๆ ที่ยังใช้ผลการสอบและระเบียบกดดันนักเรียน

อย่างไรก็ตาม การสอบเป็นปัญหาที่เกิดจากค่านิยมในโรงเรียนและผู้ปกครอง เพราะเป็นตะแกรงที่ใช้ร่อนเด็ก ยิ่งเรียนในระดับสูง การสอบยิ่งเป็นตัวตัดสินว่าเด็กจะอยู่หรือไป เด็กเก่ง-ไม่เก่ง เด็กหน้าห้อง-หลังห้อง และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

การวัดผลมีด้านลบมากกว่าด้านดี หากให้ความสำคัญกับคะแนนสอบมากเกินไป เด็กที่ถูกตัดสินจากคะแนนอาจกดดันจนเกิดการบูลลีหรือมีความเสี่ยงซึมเศร้าได้ กรณีจดหมายฉบับนี้จึงเป็นสัญญาณดีที่จะร่วมกันเรียนรู้ และขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อลดแรงกดดันให้เด็ก

นอกจากนี้ ข้อความจากจดหมาย ยังสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยในโรงเรียนส่วนใหญ่มีการบังคับให้เด็กเรียนตามระบบหลักสูตร ซึ่งมีวิชา 70-80% ที่เด็กอาจจะไม่ได้สนใจ แต่ยังเป็นภาระรุงรังอยู่ ดังนั้น เมื่อจะขึ้น ม.ปลาย เด็กควรรู้ว่าถนัดและสนใจอะไร เพื่อให้เขาได้ออกแบบและเลือกเส้นทางการศึกษาของตัวเอง ซึ่งแนวความคิดในปัจจุบัน เด็กเป็นเจ้าของการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองได้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่หรือหลักสูตรยัดเยียดให้เด็ก และเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ต้องร่วมกันแก้ไขและปรับปรุงกันต่อไป

แนะ ผปค.เข้าใจ เด็กปรับตัวหลังเรียนออนไลน์ 2 ปี 

ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ตามสถิติที่กรมสุขภาพจิตเก็บข้อมูลในเด็กพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความเครียดของเด็กจะขึ้น-ลงเป็นช่วง ๆ ทั้งช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก หรือช่วงสอบ เด็กก็จะมีความเครียดขึ้น-ลงสูง ซึ่งเด็กมีความเปลี่ยนแปลงด้านความเครียด และมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเองสูงกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป จะสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว และจัดการความเครียดได้ดี

สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือ การเข้าใจว่าเด็กต้องปรับตัวจากนั่งเรียนที่บ้าน 2 ปี ต้องมาเรียนที่โรงเรียน หลายคนปรับตัวได้ แต่หลายคนยังปรับตัวไม่ได้ ไม่มีสมาธิ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่มีความมั่นใจเพราะพัฒนาการไม่เท่าเพื่อน ดังนั้นจึงควรรับฟังเด็ก จุดนี้เป็นจุดที่ดีที่จะเริ่มรับฟังเรื่องราวที่โรงเรียนจากลูก หลังไม่ได้ฟังมานาน 2 ปี 

สิ่งที่สำคัญกว่าผลการสอบ คือ ความพยายามของเด็ก ไม่ว่าสุดท้ายปลายทางจะเป็นอย่างไร แต่ลูกได้พยายามตามบทบาทหน้าที่ของนักเรียนคนหนึ่งแล้ว หากให้ความสำคัญกับคะแนนสอบเด็กอาจจะหมดความมั่นใจ ทั้งที่เขาเป็นคนที่พยายามและเป็นคนที่เก่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง