บทวิเคราะห์ : ตท.22 สร้างประวัติศาสตร์คุม 4 เหล่าทัพ

การเมือง
1 ก.ย. 65
19:48
1,851
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ตท.22 สร้างประวัติศาสตร์คุม 4 เหล่าทัพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลประจำปี ไม่พลิกจากที่คาดหมายนัก แม้จะเป็นการจัดแถวปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต้องมองไกลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีอย่างไร

เพราะในทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองทัพมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ดังตัวอย่างรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้แต่หาสถานที่ประชุมครม.ก็หายาก ถูกม็อบ กปปส.ตามขับไล่กดดันจนเดินหน้าต่อไม่ได้

แม้จะข่าวบางกระแสระบุว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ที่อยู่บนตำแหน่งใหญ่มาถึง 2 ปีแล้ว อาจโดนสลับปรับออกจากกองทัพบก เพราะสไตล์ทำงานแบบทหารมืออาชีพ ไม่สนใจหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

แต่ถึงเวลาพิจารณาจริง ของคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพล หรือ 7 เสือกลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ ก็ไฟเขียวให้ “บิ๊กบี้” อยู่ต่อไปอีก 1 ปี จนเกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายน 66

พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นเตรียมทหาร รุ่น 22 และจปร.รุ่น 33 เป็นนายทหาร “คอแดง” (เพราะสวมเสื้อยึดคอกลมสีขาว คอขลิบสีแดงไว้ภายใน เมื่อสวมเครื่องแบบทหาร เสื้อคอกลมขลิบสีแดงจะโผล่ออกมาให้เห็น ส่วนใหญ่มาจาก ทหารรักษาพระองค์ และผ่านหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร หน่วยทหารรักษาพระองค์ 904) เป็นผบ.ทบ.คนที่ 42 ต่อจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพษ์ นายทหาร “คอแดง” เช่นเดียวกัน

พล.อ.ณรงค์พันธ์จะอยู่บนตำแหน่งผบ.ทบ.อีก 1 ปี และเป็นศูนย์กลางคนสำคัญของนายทหาร ตท.22 ที่ผงาดขึ้นมาคุมทั้ง 3 เหล่าทัพพร้อมกัน

กองทัพเรือ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ที่ขยับจากจากผู้ช่วย ผบ.ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ ก็เป็น ตท.22

เช่นเดียวกับกองทัพอากาศ ตท.22 อีกคน คือ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ ก็เลื่อนชั้นจากรอง ผบ.ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.

ยังไม่นับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสสร์ ขยับจากรอง ผบ.ตร.ขึ้นเป็น ผบ.ตร. แทน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ก็เป็น ตท.22 อีกเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังปรากฏชื่อนายทหาร ตท.22 อีกหลายคน ที่ขยับขึ้นไปมีตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ อาทิ พล.ท.ภูวนารท ชมพูบุตร (ตท.22 ) จากรองเสนาธิการทหารบก เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.อ.สิทธิพร มุสิกะสิน (ตท.22) จากรองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก ขึ้นเป็น เสธ.ทบ.คนใหม่

พล.ต.สุริยะ เอี่ยมสุโร (ตท.22) จาก รองแม่ทัพภาค 3 เป็น แม่ทัพภาค 3 พร้อมขยับยศเป็น พล.ท. และ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ (ตท.22) จากผู้ช่วย ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ.

ก่อนหน้านี้ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปี 2549 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกรัฐประหารปี 2549 ในช่วงเกิดวิกฤติการชุมนุมทางการเมือง

โดยการผนึกกำลังของ “ตท.รุ่น 6” นำโดย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.

ส่วนในยุครุ่งเรืองของ นายทหารจปร.5 ภายใต้รหัส 0143 ประกอบด้วย พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และพล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ก็ผงาดคุมทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เช่นกัน แต่ไม่ได้รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สำหรับตท.22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง