"หมอล็อต" ไขข้อสงสัยทำไมกรุงเทพฯ มี "งูเหลือม" มากขึ้น

ภัยพิบัติ
15 ก.ย. 65
16:55
6,534
Logo Thai PBS
"หมอล็อต" ไขข้อสงสัยทำไมกรุงเทพฯ มี "งูเหลือม" มากขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอล็อต" ชี้ "งูเหลือม" หนีน้ำท่วมออกจากท่อมากขึ้น อาจเข้าบ้านเรือนประชาชน-ที่ทำงาน ขณะที่ตัวเหี้ยถูกจับเพิ่มกระทบคุมประชากรงูเหลือมในธรรมชาติ วอนมองสัตว์เป็นผู้ประสบภัย พบงูให้เว้นระยะห่าง อย่าทำร้าย รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ

จากกรณีงูกัดเจ้าหน้าที่ในกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช 2 วันติดต่อกัน บาดเจ็บ 2 คน นำไปสู่ปฏิบัติการจับ "งูเหลือม" สำเร็จเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (14 ก.ย.) จากนี้จะดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของงูตัวดังกล่าว ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

วันนี้ (15 ก.ย.2565) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า การพบงูกี่ตัว หรือจับได้กี่ตัว ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการระมัดระวังตัวเอง โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังหลายวัน ทำให้สัตว์ประเภทงูที่อยู่ตามท่อระบายน้ำ หรือพื้นที่รก อาจเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชนมากขึ้น

ตัวเหี้ยลด-งูเหลือมเพิ่ม

จากสถิติรับแจ้งงูเข้าบ้านที่ทางกู้ภัยได้ไปจับและช่วยเหลือมาส่งที่กรมอุทยานฯ มีปริมาณมากกว่าปกติในช่วงหน้าฝน รวมทั้งมีสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อาหาร หรือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ โดยตัวเหี้ยจะเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมประชากรงูเหลือมในธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยมีทัศนคติเชิงลบต่อตัวเหี้ย และค่อนข้างหวาดกลัว

 

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการแจ้งให้จับเหี้ย หรือจัดการโครงสร้างประชากร ทำให้ตัวเหี้ยลดลงในพื้นที่ลุ่มที่เป็นแหล่งน้ำ และอัตรารอดของงูเหลือมเพิ่มขึ้น จึงอาจต้องรักษาสมดุลเพื่อควบคุมตัวรบกวนในระบบนิเวศระหว่างกัน

งูเหลือมกินเหี้ย เหี้ยกินไข่งูเหลือม ช่วงเวลาหนึ่งตัวเหี้ยลดลง อัตราการรอดของงูเหลือม 100% จากเดิม 20% ต้องทำเหี้ยให้เป็นพระเอก ควบคุมโครงสร้างประชากรของงูเหลือม

"งู" ประสบภัยน้ำท่วม หนีออกท่อเข้าบ้าน

น.สพ.ภัทรพล อธิบายว่า เมื่อฟักออกจากไข่ งูจะค่อนข้างไร้เดียงสา โดยออกมาอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ ชุมชน ติดตามเหยื่อ เช่น หนู สัตว์เลี้ยงของอย่างแมวและสุนัข ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อาหาร เป็นสาเหตุที่ทำให้พบงูได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้งูเหลือมที่อาศัยอยู่ตามท่อโผล่ขึ้นมาและเข้าพื้นที่ชุมชน บ้านเรือน หรือสถานที่ทำงาน

ความไร้เดียงสาของงูที่อาจยังไม่โตเต็มวัยมาก ความระมัดระวังภัยมีไม่มาก จึงอาจหลงเข้ามาในห้องทำงาน

เมื่องูเลื่อยเข้าไปยังพื้นผิวที่มีลักษณะลื่น เช่น กระเบื้อง งูอาจเคลื่อนไหวลำบาก จึงระมัดระวังภัยและมีความหวาดระแวงเพิ่มขึ้น เมื่อคนเดินผ่านอาจมีแรงสั่นสะเทือน หรือการเคลื่อนไหว งูจึงฉกเพราะตกใจ หรือระวังภัย แต่งูไม่ได้คิดว่าขาคนเป็นอาหาร

ในภาวะที่น้ำท่วมขัง งูก็คือผู้ประสบภัยเช่นเดียวกับคน การช่วยเหลือถือว่าเป็นหน้าที่หลัก ให้ทั้งงูและเจ้าหน้าที่ปลอดภัย

ทำอย่างไร? เมื่อเจอ "งู"

น.สพ.ภัทรพล ยังแนะนำว่าเมื่อพบสัตว์พลัดหลงเข้ามาในบ้านพัก หรือสถานที่ทำงาน อย่าไปจับเอง อย่าตี อย่าทำร้าย ขอให้เว้นระยะห่าง และแจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วน 1362 หรือโทร 199 เพราะช่วงน้ำท่วมขัง สัตว์ก็หนีตาย เอาตัวรอด สัญชาตญาณระวังภัยจะมีมากกว่าสัตว์ที่อยู่ในภาวะปกติ การแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ อาจเกิดอันตรายกับคนได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ประสบภัยในกรมอุทยานฯ ทั้ง 2 คน เข้าใจดีถึงเหตุสุดวิสัยดังกล่าว และได้รับการปฐมพยาบาล ก่อนนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำแผล ให้ยาควบคุมการติดเชื้อ และฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น บาดทะยัก พิษสุนัขบ้า

 

กรณีของงูเหลือมถึงแม้จะไม่มีพิษ แต่ลักษณะเขี้ยวโค้งงอเข้าตัวและคมมาก โดยหลักปฏิบัติเมื่อถูกงูกัด ต้องตั้งสติและอยู่นิ่งที่สุด จับบริเวณกรามงู อ้าปาก และดึงสวนเขี้ยวออกมาเพื่อไม่ให้แผลเหวอะ จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์ แต่เข้าใจว่าเป็นปกติของหลายคนเมื่อถูกงูกัดแล้วจะตกใจ ขยับ หรือสะบัดขา

เมื่อถูกงูกัดแล้วหลายคนมักจะตกใจ สะบัดขาจนเขี้ยวที่โค้งงอของงูทำให้บาดแผลกว้างขึ้นได้ และอาจเป็นแผลเหวอะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เผชิญหน้างู! เอาตัวรอดยังไง?

จับแล้ว "งูเหลือม" 3.5 เมตร กัด จนท.ในกรมอุทยานฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง