จาก "ซีรีส์ Itaewon" สู่ร้านอาหารค่ำคนทำงาน ก่อนกลับบ้านนอกเมืองเชียงใหม่

เศรษฐกิจ
10 ต.ค. 65
06:00
4,207
Logo Thai PBS
จาก "ซีรีส์ Itaewon" สู่ร้านอาหารค่ำคนทำงาน ก่อนกลับบ้านนอกเมืองเชียงใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เชียงใหม่ไม่ใช่สถานที่แต่เป็นผู้คน​​ เมื่อแลนมาร์กเศรษฐกิจย้ายโซนไป-มาตามกาลเวลา​ ร้านก๋วยเตี๋ยวเชียงใหม่ปรับเป็นร้านข้าวเสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่มช่วงเย็น ไม่ใช่เพื่อดึงคนเข้าเมือง​ แต่หวังมอบของขวัญให้คนกินหลังเลิกงานก่อนออกจากตัวเมืองกลับบ้านไปพักผ่อน

จากร้านดังในนิมมานที่ขายมานานถึง 10 ปี "ก๋วยเตี๋ยวรสเยี่ยม" ต้องปิดตัวลง ด้วยพิษโควิด-19 "โกสินทร์ พิพัฒนสุขมงคล" เจ้าของร้านบอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า วันนั้นเป็นฝันร้ายที่จำได้ไม่ลืม หลังซื้อผัก ซื้อเนื้อเตรียมไว้จนเต็มตู้เย็นตั้งแต่ 16.00 น. แต่ 08.00 น. ของเช้าอีกวันกลับได้ยินเสียงประกาศจากรถเจ้าหน้าที่ลอยมาว่า "ห้ามนั่งกินในร้าน ฝ่าฝืนปรับ 20,000 บาท"

เชื่อไหม วันนั้นขายได้แค่ 700 บาท แล้วเขาห้ามนั่งที่ร้านเป็นเดือน แต่เราขายก๋วยเตี๋ยว ถ้าไม่กินร้อน ๆ มันก็ไม่อร่อย เงินเก็บก็เริ่มลดลง ร่ายจ่ายคงที่ แล้วยังมีเคอร์ฟิวอีก แล้วเราจะรอดได้อย่างไร

โกสินทร์ ตัดสินใจปิดร้าน และเริ่มใช้เวลาว่างไปกับการดูซีรีส์เกาหลี กระทั่งมีโอกาสได้ดูซีรีส์เรื่อง Itaewon Class จากพระเอกซึ่งมีชีวิตที่ลำบากต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลเพื่อหาทางทำความฝันจนเปิดร้านเป็นของตัวเองได้สำเร็จ เขานำเรื่องราวนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยบอกกับที่บ้านว่าจะไม่ขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว แต่จะกลับมาบ้านหลังเดิมบนถนนเจริญประเทศที่เคยเปิดขายก๋วยเตี๋ยวมาก่อน โดยมีโจทย์ว่า "ต้นทุนและความเสี่ยงทางธุรกิจต้องต่ำที่สุด" ซึ่งบ้านหลังนี้ก็ตอบโจทย์ทุกอย่าง ทั้งปล่องควัน ครัว ปลั๊กเสียบ ไม่ต้องลงทุนสร้างระบบใหม่ 


"โกสินทร์" ในวัย 39 ปี ที่เกิดและเติบโตในเชียงใหม่ มองเทรนด์ธุรกิจในเมืองนี้ว่า หากพูดถึง Business Trend จะสลับกันระหว่างบาร์เครื่องดื่ม กาแฟ และอาหาร วนกันไป แต่หากมองเรื่องการขยับตัวของหัวเศรษฐกิจ เมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อพูดถึงเชียงใหม่ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึง  ไนท์บาซา

เมื่อย่านนิมมานฯ เกิด หัวเศรษฐกิจก็โยกไปนิมมานฯ แต่แล้ววันหนึ่งนิมมานฯ แน่นก็เริ่มบีบตัวออก เทรนด์เศรษฐกิจย้ายไปอยู่วงแหวนรอบ 2 เพราะคนเลือกไม่เข้าเมือง เกิดเป็นชานเมืองเศรษฐกิจกระจายออกข้างนอกคล้ายกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล

มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของการเดินทาง วันนี้ในเมืองซื้อที่อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว มันบีบให้เราไปซื้อข้างนอก ยิ่งไกล ยิ่งถูก เราใช้เวลาเท่าไหร่ในการเดินทางจากด้านนอกมากินที่ร้านนี้ 10 สี่แยก สี่แยกละ 10 นาที 100 นาทีก็คือ 1 ชั่วโมงครึ่ง คนก็แทบไม่มา 
ภาพ : Rosyiam Bar

ภาพ : Rosyiam Bar

ภาพ : Rosyiam Bar


"โกสินทร์" จึงเลือกเปิดร้านอาหารในช่วงเย็น เพื่อรองรับคนที่เข้ามาทำงานหรือเรียนในเมือง โดยใช้คอนเซ็ปต์ "Dinner is gift" ให้คนที่เหนื่อยจากการเรียนหรือทำงานมากิน-ดื่มแล้วกลับบ้าน ไม่ใช่การดึงลูกค้าเข้าเมือง เพราะคู่แข่งนอกเมืองก็มีมากไม่ต่างกัน แต่เลือกดักรอลูกค้าในเมืองก่อนที่พวกเขาจะออกนอกเมืองไป 

ผมปรับตัวให้ตอบโจทย์ว่าเขาต้องการอะไร ฟังเพลง บรรยากาศร้าน อาหาร การบริการ บางคนแค่อยากกินอะไรอร่อย ดื่มอะไรเย็น ๆ ฟังเพลงเพราะ ๆ อยู่เงียบ ๆ กับตัวเอง นี่คือการฮีลเขา หลังกินเสร็จ เขาก็กลับบ้านไปด้วยความผ่อนคลาย

เมื่อเปิดร้านรสเยี่ยมบาร์ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน แปลกใหม่ และน่าสนใจ ลูกค้าหลายคนตบเท้าเข้ามาอุดหนุนเพราะต้องการซื้อประสบการณ์ และมีอีกหลายคนที่ผันตัวมาเป็นลูกค้าประจำที่แม้ว่าจะไกลไม่ใช่แค่นอกเมืองแต่อยู่ต่างอำเภอก็ยังขับรถมาหาร้านเล็ก ๆ ในซอยแห่งนี้ในช่วงค่ำของวันธรรมดา


"โกสินทร์" มองว่า นี่เป็นเพียงหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่สู้จนฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ท่ามกลางผู้ประกอบการมากมาย บางคนสู้ไม่ไหวจนต้องปิดกิจการไปทำให้ตึกแถวข้าง ๆ ว่างเปล่า แต่อีกหลายคนก็เป็นนักสู้ลากธุรกิจขึ้นฝั่งกันมาได้ ซึ่งต้องชื่นชมทุกความพยายาม เพราะหากใครผ่านมาจะรู้ว่า "มันหนักจริง ๆ" แม้วันนี้รายได้จะเริ่มกลับมา แต่เจ้าของร้านอาหารมื้อค่ำคนนี้มองว่าเป็นเพียงการผ่านช่วงวิกฤตเท่านั้น และเขาหวังว่าช่วงไฮซีซั่นปีนี้เชียงใหม่จะกลับมาฟื้น 100% ได้อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง