ระบายน้ำต้นคลองระพีพัฒน์เพิ่มเท่าตัวเป็น 110 ลบ.ม./วินาที

ภัยพิบัติ
9 ต.ค. 65
20:19
702
Logo Thai PBS
ระบายน้ำต้นคลองระพีพัฒน์เพิ่มเท่าตัวเป็น 110 ลบ.ม./วินาที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทานระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์เพิ่มมากขึ้นเป็น 110 ลบ.ม./วินาที เพราะน้ำเหนือจากป่าสักยังมีปริมาณมาก และท้ายเขื่อนพระราม 6 มีชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก

วันนี้ (9 ต.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การระบายน้ำต้นคลองระพีพัฒน์ อยู่ในอัตราก้าวกระโดดเป็น 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 8 ต.ค.ที่ระบายอยู่ 60 ลบ.ม./วินาที

เหตุผลที่ต้องระบายผ่านคลองระพีพัฒน์เพิ่มขึ้น เพราะการระบายน้ำผ่านจากแม่น้ำป่าสักและคลองชัยนาทป่าสัก ไปทางเขื่อนพระราม 6 ส่งผลให้ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนสูงกว่าตลิ่ง และวันนี้สูงกว่า 2.61 เมตร ระบายอยู่ที่ 1,043 ลบ.ม./วินาที

จากการใช้โดรนบินสำรวจในช่วงเย็นวันนี้ (9 ต.ค.) พบว่า ศาสนสถาน รวมถึงชุมชนท้ายเขื่อนพระราม 6 ยังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร และบางจุดท่วมสูงกว่า 3 เมตร

นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับระดับน้ำต้นทาง คือ แม่น้ำป่าสักและคลองชัยนาทป่าสัก มีปริมาณน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนป่าสัก วันนี้ระบายที่กว่า 861 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำ 113% ยังล้นเกินความจุอ่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5

ทำให้กรมชลประทานตัดสินใจระบายน้ำมาทางคลองระพีพัฒน์ด้วย ซึ่งต้นทางอยู่ใน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และระบายแบบก้าวกระโดดเท่าตัว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กรมชลประทานควบคุมไม่ให้เกิน 120 ลบ.ม./วินาที ทำให้ตลอดทั้งวันและโดยเฉพาะเย็นวันนี้ ประชาชนทั้งในพื้นที่ อ.ท่าเรือ และต่างอำเภอ ตื่นตัวเดินทางมาสังเกตระดับน้ำกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับทิศทางที่ต้องระบายเพิ่มขึ้นมาทางคลองระพีพัฒน์ กรมชลประทานรับประกันว่า จะไม่ให้ไหลผ่านเข้าสู่พื้นที่เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี โดยจะระบายออกไปทางระบบชลประทาน และคลองสายต่างๆ ทั้งคลองแนวขวาง ลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนคลองแนวดิ่งฝั่งตะวันออก ลงสู่ทะเลอ่าวไทย ที่ จ.สมุทรปราการ เป็นหลัก

สถานการณ์ที่ต้องรองรับมวลน้ำเหนือจากคลองระพีพัฒน์ แม้ระบายไปทางโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ทำให้กรุงเทพมหานคร เตรียมบิ๊คแบ๊คไว้รองรับตามคลองสายหลัก โดยเฉพาะจุดความเสี่ยงตามแนวคลอง 6 วา ตั้งแต่คลองสิบสาม เขตหนองจอก เรื่อยลงมาจนถึงคลองสอง เขตสายไหม เพื่อตั้งรับและเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.นี้ ลดความเสี่ยงและชะลอน้ำที่อาจไหลเข้ามา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง