กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำ "เขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ"

ภัยพิบัติ
19 ต.ค. 65
14:24
1,327
Logo Thai PBS
 กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำ "เขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักฯ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักชลสิทธิ์ หลังสถานการณ์น้ำเหนือดีขึ้น คาดปลายต.ค.นี้ ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะลดต่ำกว่าตลิ่ง "จิสด้า" ชี้ 6 ลุ่มน้ำเสียหาย 1,178,025 ไร่

วันนี้ (19 ต.ค.2565) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,814 ลูกบาศก์เมตร ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 154 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 531 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,947 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลงเช่นกัน ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,938 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 143 ลบ.ม.ต่อวินาที

ส่วนแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำเช่นกัน โดยระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 401 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 720 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

ภาพ : กรมชลประทาน

ภาพ : กรมชลประทาน

ภาพ : กรมชลประทาน

ปลายต.ค.นี้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านต่ำกว่า 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งตามศักยภาพของแม่น้ำแต่ละช่วง จากนั้นจะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
รายงานพื้นที่ 6 ลุ่มน้ำเหนือตอนล่างและภาคกลาง เผยข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-Skymed-1 เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมขังบางส่วนในเขต ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน ทั้งสิ้น 1,178,025 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำทะลักชุมชนศาลาแดง จ.อ่างทอง ชาวบ้านขนของหนีน้ำไม่ทัน

น้ำทะลักท่วม “บ่อขยะ” อ่างทอง เร่งป้องกันไหลเข้าเขตเมือง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง