เปิดชนวนกดดัน "ลิซ ทรัสส์" ลาออก

ต่างประเทศ
20 ต.ค. 65
21:35
1,084
Logo Thai PBS
เปิดชนวนกดดัน "ลิซ ทรัสส์" ลาออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เพียงระยะเวลา 45 วันหลังจากนั่งเก้าอี้ นายกฯ ลิซ ทรัสส์ ต้องเผชิญแรงกดดันมากมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดมาจากสมาชิกในพรรคของเธอเอง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้การเงินอังกฤษต้องสั่นคลอน

วิกฤตเพื่อนสนิทที่สุดทางการเมือง

หลังจากที่ นาย กวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทที่สุดทางการเมืองของ นาง ลิซ ทรัสส์ ถูกปลดจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 38 วัน เนื่องจากการแถลงแผนการลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล

นาย เจเรมี ฮันต์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ทันที และประกาศยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ซึ่งแผนการตัดลดภาษีนี้ ส่งผลให้อังกฤษเจอค่าเงินปอนด์สเตอริงที่ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ จนธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซง

การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เป็นการฉีกแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจของ นาง ทรัสส์ ทั้งหมด และยังมีกระแสเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าบริหารประเทศเพียงไม่กี่สัปดาห์

สมาชิกหลายคนของพรรคคอนเซอร์เวทีฟมองว่า นาง ทรัสส์ ควรลงจากตำแหน่งเช่นกัน เพราะ นาย กวาร์เทง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิททางการเมือง ร่วมงานกันมากว่า 10 ปีและเป็นผู้ร่วมร่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีประโยชน์ การปลด นาย กวาร์เทง ออกจากตำแหน่ง แต่ตนเองยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นการหักหลัง

วิกฤตสัญญาที่ทำตามไม่ได้

เมื่อ 19 ต.ค. นาง ซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า ตนละเมิดข้อห้ามของรัฐมนตรี และในจดหมายลาออก นางเบรเวอร์แมน ก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยกล่าวว่า “รัฐบาลไม่ทำตามสัญญา” ที่ให้ไว้

วิกฤตแฟรกกิ้ง

ในวันเดียวกัน ในการประชุมที่รัฐสภา นาง ทรัสส์ เสนอแผนของรัฐบาลที่จะอนุญาตให้กลับมาขุดเจาะปิโตรเลียมด้วยเทคนิค "แฟรกกิง" (Fracking) ทำให้ ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ ส.ส.หลายคนได้รับแจ้งว่า การโหวตลงมติในหัวข้อนี้ จะเทียบเท่ากับการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และหากใครไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาล ก็จะเจอกับ "มาตรการลงโทษอย่างสมควรแก่เหตุ"
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลชนะมติด้วยคะแนน 326 เสียงต่อ 230 เสียง โดยมี ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ถึง 40 คน ที่ไม่ลงคะแนนเสียง

อนึ่ง "แฟรกกิง" คือระบบการผลิตปิโตรเลียมด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เพื่อให้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ หลุดออกมา

แต่หลังจากนั้นเพียง 1 วัน นาง ลิซ ทรัสส์ ก็ประกาสลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ปิดฉาก นายกฯ อังกฤษ ที่ทำหน้าที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์

ที่มา : BBC, REUTERS

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง