รู้จัก "โมเดลเศรษฐกิจ BCG" วาระแห่งชาติของไทยในการประชุมเอเปค 2022

สิ่งแวดล้อม
22 ต.ค. 65
08:09
2,859
Logo Thai PBS
รู้จัก "โมเดลเศรษฐกิจ BCG" วาระแห่งชาติของไทยในการประชุมเอเปค 2022
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มติ ครม. มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ จากนั้น รัฐบาลไทยก็ได้ชูโมเดลเศรษฐกิจนี้ในการประชุมเอเปค 2022 เพื่อแสดงให้สมาชิกเอเปคได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมทางเศรษฐกิจของไทย

โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่

เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bio-economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้

อยู่ภายใต้ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

เรียกได้ว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

สำหรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย โมเดลเศรษฐกิจ BCG มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ


ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง


ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้ง ด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน


ให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง มีผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียม สินค้าเชิงนวัตกรรมที่หลากหลาย กำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร อันจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ในขณะที่ นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรด้วย โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะดำเนินการใน 4 แนวทาง ได้แก่

แนวทางที่ 1 อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
แนวทางที่ 2 ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ การผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง
แนวทางที่ 3 พัฒนาเกษตรกรมืออาชีพและเสริมสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรภาครัฐ
แนวทางที่ 4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก


ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของประเทศไทยในเรื่องเศรษฐกิจ หลังจากผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ที่จะต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และเชิญชวนให้ต่างประเทศ เข้ามาร่วมลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ได้ ภายใต้เงื่อนไข ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การแปรปรวนของภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดลงของทรัพยากร

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่แลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากร สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ

การใช้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นทางโมเดลเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้การดูแลรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสร้างทักษะการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพประชากรในประเทศไปพร้อมๆ กัน

ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล, เทคโนโลยีชาวบ้าน, สวทช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง