สถานบำบัดเต็ม-ไม่มีเงิน-รักษาไม่ต่อเนื่อง ต้นตอช่วยเหลือผู้เสพยาไม่สำเร็จ

สังคม
23 ต.ค. 65
16:50
2,245
Logo Thai PBS
สถานบำบัดเต็ม-ไม่มีเงิน-รักษาไม่ต่อเนื่อง ต้นตอช่วยเหลือผู้เสพยาไม่สำเร็จ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสียงสะท้อนการให้โอกาสคนติดยาเข้าสู่กระบวนการรับการบำบัด ย้อนแย้งข้อเท็จจริงสถานบำบัดยาเสพติด มีไม่เพียงพอ บางเคสต้องใช้เวลา 1-3 ปี ไม่ได้สามารถบำบัดได้จริง และกลายเป็นตลาดนัดยาเสพติดแทน

การใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2564 ยึดหลักผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ถือเป็นการให้โอกาสผู้หลงผิดเข้ารับการบำบัด กลับคืนสู่สังคม แต่อีกมุมหนึ่ง ที่ย้อนแย้งเพราะสถานบำบัดยาเสพติด ไม่ได้สามารถบำบัดได้จริง แต่กลายเป็น ตลาดนัดยาเสพติดแทน ทำให้เรื่องดังกล่าวมีความเห็นที่แตกต่างกัน

นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ให้ข้อมูลว่า จากการไปผู้คุยกับผู้เสพ ที่เข้ารับการบำบัด จะบอกว่าไม่ได้เหมือนกับนโยบายที่วางเอาไว้ ซึ่งนอกจากไม่สามารถบำบัดได้แล้ว ยังกลายเป็นตลาดนัดยาเสพติดให้ผู้เสพพูดคุยแลกเบอร์และติดต่อหาแหล่งยากันอีกด้วย

นายเอกภพ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการบำบัด แต่เสนอว่า ถ้าจะบำบัดต้องทำอย่างจริงจัง ผู้เสพ ที่จะถูกจัดว่าผู้ป่วย จะต้องเป็นคนที่ถูกจับครั้งแรกเท่านั้น และการบำบัดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ทั้งบำบัดยาเสพติด ฝึกอาชีพ เมื่อออกกระทรวงแรงงานต้อง มีงานรองรับจะได้มีงานทำ มีรายได้ เป็นการแยกปลาออกจากน้ำ แต่ถ้ากลับไปเสพอีก ต้องบำบัดอย่างน้อย 3 ปี

จริงๆ โครงสร้างของรัฐ มีอยู่แล้ว ถึงคนจะบอกว่า จับเยอะบำบัดนาน ก็จะมีปัญหาสถานที่ไม่เพียงพอ และถ้าสถานที่ไม่พอก็ต้องสร้างเพิ่ม เป็นงบที่ควรลงทุน ดีกว่าให้ผู้บริสุทธิ์มาเสี่ยงอย่างไม่มีข้อยุติ

ชงเสนอ ตร.ทำหน้าที่ "นักจิตวิทยา" ประจำโรงพัก 

ด้าน รศ.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์คณะสังคมศาสตรและมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล นักวิชาการด้านงานยุติธรรม เสนอมาตรการเพิ่มเติม คือการมีตำรวจ ที่เป็นนักจิตวิทยาประจำโรงพัก เพราะจากข้อสังเกตว่าผู้เสพยามากขึ้น และควรการบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ โดยรัฐต้องทุ่มงบประมาณเพื่อให้มีความพร้อมเพียงพอ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากว่าการเยียวยาเหยื่อที่ถูกทำร้าย ที่เป็นความสูญเสียมากกว่า

ส่วน นายภควี นาคจู ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ยอมรับว่า สถานที่บำบัดอาจเป็นพื้นที่สร้างเครือข่ายผู้เสพยา แต่อย่างน้อยก็อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ และเมื่อออกมาก็จะมีการประสาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาดูแล ที่สำคัญบางครั้งยังได้รับข้อมูลจากผู้บำบัดจนสามารถขยายผลการจับกุมถึงกลุ่มผู้ค้าได้

การบำบัดจะได้ผลระยะยาว ครอบครัว สังคมต้องช่วยกันเพราะการเลิกยาเสพติดเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยกำลังใจ ที่ต้องทำควบคู่กัน คือ ต้องปราบปรามผู้ค้าให้เข้มข้นขึ้น เพราะเชื่อว่า ถ้าคุมการขายได้ ก็คุมการเสพได้

เปิดเคสชุมชนเอ็กซเรย์คนติดยา

แต่หากพูดถึงชุมชนเป็นส่วนสำคัญ หลายคนอาจมองว่า เป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก และการผลักภาระให้สังคม เพื่อให้เห็นแนวทางว่า ชุมชน จะเข้ามามีส่วนช่วยอย่างไร ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ไปที่บ้านคูกลาง หมู่ที่ 1 ต.หลักหก จ.ปทุมธานี มีการสแกนพื้นที่หาคนเสพ และช่วยกันดูแล

พบชายคนหนึ่งที่เคยหลงผิดเสพยา จากการชักชวนของเพื่อนในวงสุรา ทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เพราะมีลูกชายวัย 5 ขวบ เป็นแรงใจที่ทำให้ผู้เป็นพ่ออย่าขาดจากยาได้ นอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชน ลงพื้นที่เชิงรุกและหางานให้ทำ

ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง แม่ของผู้ป่วยเล่าว่า ในอดีตลูกชายมีอาการหลอน ทำร้ายข้าวของ และคนในครอบครัว ซึ่งเกิดจากการใช้ยาเสพติดเป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ก็ไม่สามารถรักษาต่อเนื่องได้ เพราะปัญหาหลักคือเรื่องเงิน เมื่อต้องพาลูกไปรักษา ก็ต้องจ่ายเอง แต่หากได้รับการรักษาสม่ำเสมอ คนกลุ่มนี้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

เจ้าหน้าที่ในชุมชนบอกว่า การใช้มาตรการเชิงรุก ร่วมกับ ตำรวจสภ.ปากคลองรังสิต ลงพื้นที่เอ็กซเรย์คนที่เสพยา ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ถึงปัจจุบัน พบคนเสพยา 17 คน

โดยกำหนดให้ต้องตรวจปัสสาวะทุก 10 วัน เพื่อตัดวงจรการเสพ ให้ไม่กลับไปติด ส่วนผู้ป่วยจิตเวช จะให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัว ไปส่งโรงพยาบาลตามที่หมอนัดทุกครั้ง เพื่อให้ได้กินยาต่อเนื่อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อนุทิน" ให้ปชช.ตัดสินครอบครองยาบ้ากี่เม็ดเข้าข่าย "ผู้เสพ-ผู้ค้า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง