อาการที่ต่างกัน ระหว่าง โรคอีโบลา-ไข้เลือดออก

สังคม
25 ต.ค. 65
16:07
2,713
Logo Thai PBS
อาการที่ต่างกัน ระหว่าง โรคอีโบลา-ไข้เลือดออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"โรคอีโบลา" จัดอยู่ในกลุ่มโรคเดียวกันกับ "โรคไข้เลือดออก" เนื่องจากมีอาการที่คล้ายคลึงกัน แม้สถานการณ์การระบาดของ อีโบลา ในไทยอยู่ในอัตราต่ำ แต่การเรียนรู้เพื่อการป้องกัน การดูแลตัวเองยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

อีโบลา (Ebola) หรือ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

เป็นโรคติดต่ออันตรายของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) พบการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง นำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) 

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา

 

อาการ

  • อีโบลา แสดงอาการตั้งแต่วันที่ 2 หลังจากได้รับเชื้อไปจนถึงวันที่ 21 อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้
         - มีไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ
         - ปวดเมื่อยข้อต่อและกล้ามเนื้อ
         - ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรุนแรง
         - ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง
    เมื่อเวลาผ่านไป อาการมีความรุนแรงมากขึ้น เกิดเลือดออกในร่างกาย ทางตา หู จมูก ผู้ป่วยบางรายอาจอาเจียนหรือไอออกมาเป็นเลือด ท้องร่วงเป็นเลือด 

  • ไข้เลือดออก มีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะแสดงอาการที่รุนแรงกว่า เช่น
         - มีไข้สูงมาก ปวดศีรษะมาก
         - ปวดเมื่อยข้อต่อและกล้ามเนื้อทั่วลำตัว
         - มีผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว
         - คลื่นไส้อาเจียน
    อาจพบหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกาย ในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำลง 

การติดต่อ

  • อีโบลา แพร่จากการสัมผัสผิวหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้ออยู่แล้ว เช่น ลิง ลิงชิมแปนซี หรือค้างคาว และสามารถติดต่อกันจากคนสู่คนได้ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือสารคัดหลั่ง

  • ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเพศเมีย ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย

การรักษา

  • อีโบลา ยังไม่มียารักษา การรักษาเป็นการประคับประคองหรือควบคุมอาการ และโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก ต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลและต้องมีการแยกผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรค 

  • ไข้เลือดออก ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด
     

ภาวะแทรกซ้อน

  • อีโบลา การติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีโอกาสที่จะเสียชีวิตถึงร้อยละ 90 ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะที่สำคัญในร่างกายล้มเหลว เช่น มีเลือดออกอย่างรุนแรง เพ้อ ชัก จนกระทั่งขาดสติ

  • ไข้เลือดออก สามารถพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้น อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น ภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน นำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การป้องกัน

  • อีโบลา ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันไวรัสอีโบลาได้ แต่ปัจจุบันมีการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ทางป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อ 

  • ไข้เลือดออก ในประเทศไทย วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกยังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าทดลองอยู่ ดังนั้น วิธีการป้องกันจึงเน้นไปยังวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยการดูแลตัวเอง

อ่านข่าวต่อ : สธ.คุมเข้มป้องกัน "อีโบลา" ผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา

ที่มา : Pobpad

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง