อนาคต "ทวิตเตอร์" ในมือมหาเศรษฐี "อีลอน มัสก์"

Logo Thai PBS
อนาคต "ทวิตเตอร์" ในมือมหาเศรษฐี "อีลอน มัสก์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ จับตา "ทวิตเตอร์" ในมือ "อีลอน มัสก์" กับขอบเขตของเสรีภาพทางการสื่อสาร ที่อาจเป็นดาบสองคมกลายเป็นพื้นที่สร้างข่าวปลอม-ปลุกระดมความรุนแรง พร้อมไขปมสงสัย Community Standards ทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไร หลังปลดผู้บริหารเก่าออกทันทีที่ปิดดีล

วันนี้ (28 ต.ค.2565) ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ในรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ทางไทยพีบีเอส กรณี อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกกลายเป็นเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่ โดยระบุว่า หลังจากพยายามมานาน สุดท้าย อีลอน มัสก์ ก็ได้กลายเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ พร้อมกับการปลดผู้บริหารระดับสูงออกทันที 2-3 คน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้จัดระเบียบการใช้ทวิตเตอร์และเริ่มต้นแบนบางบัญชีที่ไม่เหมาะสม

ผศ.สกุลศรี มองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจต้องจับตาดูว่า อีลอน มัสก์ จะทำให้ทวิตเตอร์เสรีมากจนไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีชาวทวิตเตอร์ที่ขับเคลื่อนเรื่องการต่อต้านความเกลียดชังและข่าวปลอมออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ทวิตเตอร์จะทำให้ความรุนแรงในโลกออนไลน์รวมถึงโลกออฟไลน์เข้มข้นขึ้นหรือไม่ด้วย

ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่คนคุยเรื่องการเมืองค่อนข้างเข้มข้น และมีพลังในการขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ผ่านแฮชแท็ก รวมถึงมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ใช้ หากไม่มีการจัดระเบียบให้มี Community Standards ที่ดี ก็อาจเป็นดาบสองคมได้

อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวบางส่วน ก็เริ่มเรียกร้องกับเอเจนซี่และผู้ประกอบการแบนหรือถอนโฆษณาจากทวิตเตอร์ หากอีลอน มัสก์ ปล่อยให้มีข่าวปลอมหรือข้อมูลผิดเพี้ยนมากขึ้น ซึ่งอีลอน มัสก์ ก็ออกตัวเกี่ยวกับประเด็นนี้แล้วว่า "แม้จะสนับสนุน Free speech แต่ก็จะคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ด้วย"

ผศ.สกุลศรี วิเคราะห์ว่า เสรีภาพของอีลอน มัสก์ คือการแสดงออกอย่างเต็มที่ ให้ทุกคนได้รับข้อมูลทั้งหมดแล้วนำไปประมวลเพื่อตัดสินเองว่าจะคิดเห็นอย่างไร แต่เสรีภาพนั้นก็ต้องคำนึงถึงสิ่งที่พูดออกไปด้วยว่าส่งผลกระทบต่อคนอื่นหรือไม่ เรียกว่า "เรามีเสรีภาพแต่ก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย" ขณะเดียวกัน อัลกอริทึม (Algorithm) ของทวิตเตอร์ก็คัดกรองหน้าฟีดเฉพาะสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ ซึ่งอาจทำให้ได้รับข้อมูลไม่ได้ทั้งหมด และทวิตเตอร์อาจกลายเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความรุนแรงให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้หรือไม่

แนะชาวทวิตเตอร์สร้าง Community Standards เอง

ทั้งนี้ หากทวิตเตอร์ไม่ได้มีการจัดระเบียบหรือกำหนด Community Standards ที่ดี กลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มที่ยังเล่นทวิตเตอร์ได้ไม่นาน และแยกแยะข้อมูลยังไม่ได้ หรือสามารถถูกชักจูงด้วยข้อมูลได้ง่าย ขณะเดียวกัน กลุ่มที่คลุกคลีกับทวิตเตอร์จนเชี่ยวชาญจะไหวตัวได้ ด้วยพัฒนาการของคนใช้โซเชียล และทราบว่าข้อมูลนี้มีที่มาจากใคร ยืนอยู่จุดไหน ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยกันสะท้อนหรือให้ข้อมูล หากอยากใช้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่เจตจำนงดั้งเดิมในการใช้เพื่อเกิดประโยชน์จริง ๆ ต้องสร้าง Community Standards ด้วยตัวเอง

ส่วนความกังวลเรื่องการปลดแบนบัญชีต่าง ๆ โดยเฉพาะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ก่อนหน้านี้เคยทวีตข้อความคล้ายปลุกระดมให้คนออกมา เพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กรณีนี้ถือว่าเป็นการวัดใจอีลอน มัสก์ ไม่เฉพาะประเด็นยกเลิกแบนหรือทรัมป์จะกลับมาใช้ทวิตเตอร์หรือไม่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมว่า ทรัมป์จะเป็นกรณีศึกษาของชาวทวิตเตอร์คนอื่นว่าสามารถทวีตสิ่งนี้ได้ 

ต่อให้ทรัมป์จะกลับมาใช้ทวิตเตอร์หรือไม่ แต่ทรัมป์จะเป็นกรณีศึกษาว่า สามารถทำแบบนี้ได้ ต่อให้ไม่มีทรัมป์อยู่ สิ่งที่น่ากังวลคือ อาจมีคนทำเหมือนทรัมป์อีกหลายคน ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวาย ดังนั้นผู้ใช้ทวิตเตอร์ต้องเตรียมรับมือด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง