สายพานชีวิต "ไรเดอร์" ในวันที่ถูกพันธนาการด้วยแอปฯ ส่งอาหาร

สังคม
4 พ.ย. 65
16:46
1,119
Logo Thai PBS
สายพานชีวิต "ไรเดอร์" ในวันที่ถูกพันธนาการด้วยแอปฯ ส่งอาหาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากรายได้และโปรโมชั่นจูงใจเหล่าไรเดอร์ นำไปสู่การปิดถนนประท้วงเรียกร้องการปรับเปลี่ยนระบบงาน กับคำถามที่ว่าอิสระจริงหรือไม่ และแนวโน้มของตลาด Food Delivery ในไทย

จากกรณีที่กลุ่มไรเดอร์สายงาน GrabFood และ GrabMart รวมตัวบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย่านราชประสงค์ เรียกร้องกรณีระบบการจองรอบงาน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่บริษัทปรับเปลี่ยนระบบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจองรอบการรับงาน

ไรเดอร์เรียกร้องอะไร?

การรวมตัวในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ระบบการจองรอบ กลุ่มไรเดอร์มองว่ายังไม่ชัดเจน ไม่ตอบโจทย์ในกลุ่มงานอิสระและการกระจายงานที่ทั่วถึง โดยเห็นว่าจำกัดสิทธิมากเกินไปต่อโอกาสการได้รับงาน เนื่องจากบริษัทฯ บังคับโซนพื้นที่ให้วิ่งรับงาน แทนจากเดิมที่รับงานได้ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงการเลือกให้รับออเดอร์คู่พร้อมกัน แทนการรับทีละงาน

2.ปัญหาการรับออเดอร์คู่ที่เข้ามาพร้อมกัน คำสั่งซื้อ หรืองานแบช คืองานที่มีมากกว่า 1 คำสั่งซื้ออยู่ในงานครั้งเดียวกัน โดยมาจากจุดรับเดียวกัน และมีจุดส่งอยู่ในเส้นทางเดียวกัน โดยไรเดอร์ 1 คน รับลูกค้าได้ สองรายต่อเนื่องกัน ทำให้ไรเดอร์คนอื่น ขาดรายได้

3.ค่ารอบที่ไรเดอร์จะได้ลดลง 2-4 บาท ในแต่ละเที่ยววิ่ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการหักเปอร์เซ็นต์ค่าส่งให้ไรเดอร์

ตัวแทนไรเดอร์บอกอะไร

ตัวแทนไรเดอร์เปิดเผยกับรายการสถานีประชาชน ไทยพีบีเอส ว่า ช่วงแรกมองว่าเป็นงานที่ดีมาก สามารถเลือกเวลาทำงานได้ แต่เมื่อปฏิบัติงานไปแล้ว เริ่มไม่ใช่อาชีพอิสระที่ใครหลายๆ คนคิด

ใน 1 วัน ตั้งเป้าวิ่งให้ได้ 1,000 บาท ซึ่งต้องวิ่งถึง 25 รอบ ทุกวันนี้จะเหลือยอด 600 บาทต่อวัน เนื่องจากเป็นงานคู่คืองานแบช ที่ไม่สามารถไม่รู้ได้ว่าร้านที่ 2 คือร้านไหน รอนานแค่ไหน จะกระทบต่อลูกค้าต้องรอนาน สินค้าก็จะไม่ได้คุณภาพ ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าท้วงติง และทำให้มีผลกับการรับงานต่อไป

และจะโดนหักค่าเปอร์เซ็นต์จนถึงวันนี้เหลือประมาณ 35 บาท ต่อ 1 งาน แต่ถ้าวิ่งงานคู่จะเป็นการเหมาจ่าย จะลดเหลือ 50-60 บาทต่อ 1 รอบ (2 ออเดอร์) ทั้งที่ระยะทางเท่าเดิม

ชีวิตไรเดอร์?

ไรเดอร์ส่งอาหาร หรือ ฟูดเดลิเวอรี หรือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการขนส่งสินค้าตามต้องการ เป็นอาชีพยอดฮิตในช่วงที่เริ่มมีการการระบาดของโควิด-19 และมีมาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร

รวมถึงนโยบายการให้พนักงานทำงานที่พัก หรือ Work from Home ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเป็นการใช้แอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงจากทางด้านเทคโนโลยี ที่เข้ามามีผลอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหารในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การเข้ามาของเทคโนโลยีชนิดนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค สะท้อนจากการขยายตัวของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ที่มีการขยายตัว เฉลี่ยต่อปีในปี 2557-2561 อยู่ที่ร้อยละ 11 และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3.3-3.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2562

รายได้ของไรเดอร์

1.RobinHood
-รายได้ 25,000-35,000 ต่อเดือน
-เช้ารับงาน ค่ำรับเงินตัดรอบทุก 6 โมงเย็น รับเงินภายใน 4 ทุ่มของทุกวัน
-ไม่ต้องสำรองเงิน ไม่ต้องเติมเครดิต
-ไม่หัก % รายได้

2.Line Man
-รายได้ 26,000 บาท /เดือน
-หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แต่สามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้ ในการยื่นภาษีประจำปี
-หักค่าบริการแอปพลิเคชั่น 15%
-การันตีรายได้ขั้นต่ำ16,000 บ. ในเดือนแรก* เฉพาะพื้นที่ที่กำหนด
-งานอิสระ เลือกวัน-เวลาทำงานได้เอง

3.Grab Food
-รายได้ 35,000 บาท/เดือน
-งานอิสระ เป็นนายตัวเอง พร้อมประกันฟรีและสิทธิเงินกู้
-เลือกเวลาได้เอง มีรายได้พิเศษ ที่มีพร้อมโบนัสพิเศษในทุกๆ สัปดาห์
-ค่าบริการต่างๆ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แต่สามารถขอยื่นคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้
-หักค่าคอมมิชชั่นจากการส่ง 15%

4.foodpanda
-รายได้เฉลี่ยสูงสุด 25,000 บาท/เดือน
-หักภาษี 3% ณ ที่จ่าย
-มีรายได้พิเศษ ที่มีพร้อมโบนัสพิเศษในทุกๆ สัปดาห์

แนวโน้มอาชีพไรเดอร์

ข้อมูลศูนย์กสิกรไทย ระบุว่า ความนิยมของผู้บริโภคและการขยายตลาดไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหาร ประกอบกับมาตรการคนละครึ่ง

คาดว่าทั้งปี 2565 ตลาด Food Delivery ดัชนีการสั่งซื้อ จะมีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 44 แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2564

และหากมองไประยะข้างหน้า ตลาด Food Delivery ยังคงมีโจทก์ท้าทายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเติบโตจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรง ขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่บรรเทาลง ส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการจัดส่งอาหาร ยังต้องทำแคมเปญการตลาดร่วมกับร้านอาหารในระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายยังคงมีการใช้งานและเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเหล่าไรเดอร์ต่อไป 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง