โปรเจกต์ใหม่ "อีลอน มัสก์" ฝังชิบในสมองคน-หวังช่วยผู้ป่วยอัมพาต

ต่างประเทศ
2 ธ.ค. 65
12:54
446
Logo Thai PBS
โปรเจกต์ใหม่ "อีลอน มัสก์" ฝังชิบในสมองคน-หวังช่วยผู้ป่วยอัมพาต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่มีแนวคิดในการสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ประกาศว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า บริษัทของเขาจะเริ่มการทดลองฝังชิปไร้สายในสมองของมนุษย์ เพื่อช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาทและสมอง

เป้าหมายแรกที่ มัสก์ ต้องการทำให้สำเร็จคือ การทำให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต สามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายและสื่อสารได้อีกครั้งรวมถึงฟื้นฟูการมองเห็นด้วย

อาจดูเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แต่หลายๆ โครงการที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้อยู่ เช่น การสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือ การสร้างอุโมงค์ไฮเปอร์ลูปสำหรับการเดินทางด้วยความเร็วสูง มัสก์ก็ทำให้เกิดขึ้นได้จริงมาแล้ว

วันที่ 1 พ.ย.2565 อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีของโลก ได้ขึ้นเทวีประกาศถึงแนวคิดเรื่องการฝังชิปไร้สายในสมองมนุษย์ และ อีลอน มัสก์ ตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า Neuralink (นิวเรลิงก์) เพื่อพัฒนาโครงการนี้โดยเฉพาะ

แนวคิดหลักๆ ของโครงการนี้คือ การฝัง Brain chip interface ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างคลื่นสมองกับอุปกรณ์ภายนอก โดยหลักการทำงานของร่างกายมนุษย์จะเริ่มจากสมอง ที่ส่งคำสั่งให้ร่างกายทำงาน ซึ่งระบบประสาทจะสื่อสารกันเพื่อสั่งการให้อวัยวะทำงาน

ขั้วไฟฟ้าที่อยู่ใน Brain chip interface จะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้และแปลงสัญญาณเป็นอัลกอริทึมที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้

ชิปรุ่นล่าสุดที่บริษัทนิวเรลิงค์พัฒนาขึ้นมา มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 มิลลิเมตร ขนาดพอๆ กับเหรียญ 5 บาท และมีอิเล็กโทรดหรือขั้วไฟฟ้ามากกว่า 2 พันเส้น แต่ละเส้นมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์

กรรมวิธีการฝังชิปจะเริ่มด้วยการเจาะกะโหลกศีรษะให้มีขนาดเท่ากับชิป ก่อนจะวางชิปปิดทับส่วนของกะโหลกที่ถูกเจาะออกไป ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ต้องใช้ความแม่นยำสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝังอิเล็กโทรดลงไปในสมองทีละเส้น

บริษัทนิวเรลิงค์ จึงสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ผ่าตัดฝังชิปในสมองโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ทำการทดสอบในลิงและหมูไปแล้ว ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ

เป้าหมายแรกๆ ของมัสก์คือ การช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายและสื่อสารได้อีกครั้ง รวมถึงการรักษา หรือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบประสาท หรือสมอง ให้มีอาการดีขึ้น เช่น สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อส่งข้อความ ดูทวิตเตอร์ หรือ ดูคลิปวิดีโอได้ด้วยตัวเอง

และอีกสิ่งหนึ่งที่ มัสก์ ต้องการทำให้สำเร็จคือ ฟื้นฟูการมองเห็นที่แม้แต่คนที่ตาบอดโดยกำเนิด มัสก์  ก็ต้องการให้คนเหล่านี้มีโอกาสได้มองเห็นโลก

แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการฝังชิปในสมองคือ การผ่าตัดฝังชิปในสมองมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นหากอุปกรณ์ไม่พร้อมหรือมีความผิดพลาดเพียงนิดเดียว ก็อาจทำให้สมองได้รับความเสียหายได้

นอกจากนั้นร่างกายของผู้ป่วยบางคนอาจปฏิเสธชิป ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกปลอม รวมถึงความกังวลว่า หากวันใดวันหนึ่งการประมวลผลของชิปเกิดความผิดพลาด รวมถึงอาจถูกโจมตีทางไซเบอร์ จะทำให้สมองถูกเจาะข้อมูลได้

และนี่อาจเรียกได้ว่า "เป็นความหวังใหม่ที่มาพร้อมกับความเสี่ยง"

ขณะนี้ ไม่ได้มีแค่บริษัทของ มัสก์ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่กำลังทดสอบการสื่อสารระหว่างสมองกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกบริษัทหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในทดสอบเรื่องนี้ คือ บริษัท Synchron (ซิงครอน)

บริษัทนี้ได้ทำการทดสอบในมนุษย์เป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ ไปแล้ว แต่อุปกรณ์ที่ใช้ฝังในสมองจะแตกต่างจากบริษัทของ มัสก์ โดยซิงครอนจะใช้วิธีใส่อิเล็กโทรดเข้าไปในเส้นเลือดสมองที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เล็กๆ ที่อยู่นอกร่างกาย ซึ่งจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการทำงานของระบบประสาทและแปลงสัญญาณเป็นอัลกอริทึมที่คอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้

ผลการทดสอบพบว่า ผู้ป่วย 2 คนที่เป็นอัมพาต สามารถทำภารกิจง่ายๆ ด้วยตัวเองได้ เช่น การส่งข้อความในแพลตฟอร์มต่างๆ การส่งอีเมล ซื้อของออนไลน์ รวมถึงทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร ด้วยการใช้สมองสั่งการ

ล่าสุดมีรายงานว่า คนไข้ที่เป็นอัมพาตในออสเตรเลีย ที่เข้าร่วมการทดสอบสามารถใช้สมาร์ตโฟนและแท็ปเลตได้ 

ส่วนคำกล่าวอ้างของมัสก์ที่บอกว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเริ่มทดสอบในมนุษย์นั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันข่าวนี้

ที่สำคัญ มัสก์ เคยตั้งเงื่อนเวลาแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ทำไม่ได้

ซึ่งก็มีรายงานข่าวว่ามัสก์เองก็รู้สึกไม่พอใจทีมงานที่ทำงานช้า ทำให้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทดสอบในมนุษย์สักที

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง