เปิดโลกชีวิต "ควาญ-ช้างคู่หู" สถาบันคชบาลฯ ลำปาง

ไลฟ์สไตล์
10 ธ.ค. 65
10:11
2,812
Logo Thai PBS
เปิดโลกชีวิต "ควาญ-ช้างคู่หู" สถาบันคชบาลฯ ลำปาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ส่องชีวิต "ควาญช้าง" กับคู่หูตัวใหญ่ บางคนใช้เวลาสร้างความเชื่อใจกับช้างนานนับปี กับเสน่ห์อาชีพควาญช้างที่ต้องอาศัยใจรัก ที่สถาบันคชบาลฯ ลำปาง

"อยู่ด้วยกันทุกวัน" จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี กลายเป็นความคุ้นเคยผูกพันระหว่าง "ควาญช้าง" คู่หูคนสำคัญของ "ช้างเลี้ยง"

พันธุ์ จิตสุข คลุกคลีอยู่กับช้างมานานกว่า 20 ปี ตอนนี้ทำหน้าที่ดูแล "พลายปฐมสมภพ" หรือ AI

พันธุ์ เล่าที่มาของชื่อ AI เพราะเกิดจากการผสมเทียมเป็นเชือกแรกของเอเชีย เขาเริ่มดูแลตั้งแต่ AI อายุ 2 ปี จนตอนนี้ 14 ปีแล้ว

ปกติช้างงามีนิสัยดุ แต่ AI ค่อนข้างเชื่อฟังควาญพันธุ์ เพราะอยู่ด้วยกันมานาน แข็งแรง แม้ดื้อบ้าง หรือเคยป่วยเพราะกินดินจนต้องพาไปหาหมอ AI ก็จะได้รับการดูแลจากควาญช้างเป็นอย่างดี

อยู่กับช้างที่เราดูแลมานาน ก็รู้กันอยู่ มองตาก็เข้าใจ

"อารีนา" ช้างพังอายุ 18 ปี มี "ควาญปั้ม" เป็นควาญคู่ใจ คู่หูคู่นี้อยู่ด้วยกันมากว่า 3 ปี แม้ยังไม่รู้ใจกัน 100% แต่การได้อยู่ใกล้ชิดกันก็ทำให้ความผูกพันเกิดขึ้น

เริ่มต้นวันที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ลำปาง คชากร ก้อนคำ หรือควาญปั้ม จะไปรับอารีนาบนหลัก เก็บกวาดทำความสะอาดแหล่งมัดช้าง พาไปอาบน้ำ เดินออกกำลังกาย พักผ่อนรอเวลาแสดงโชว์นักท่องเที่ยว

โชว์ของช้างที่ลานแสดงใช้เวลาประมาณ 30 นาที มีทั้งสาธิตฝึกช้างเบื้องต้น เช่น ยกขา ตรวจฟัน การลากไม้ ไต่ขอนไม้ เล่นเกมขว้างบอล รวมถึงเก็บของและใส่หมวกให้ควาญ

หลังจบการแสดงจะพาช้างไปพักรวมโขลง กินหญ้า ก่อนพาไปอยู่บนหลัก โดยมีควาญช้างผลัดเปลี่ยนเวรดูแลในแต่ละคืน

ควาญปั้ม บอกว่า การฝึกช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยใช้บทเรียนเชิงบวก เน้นใช้อาหารที่ช้างชอบกระตุ้นการฝึก โดยไม่บังคับขู่เข็น ช้างแต่ละเชือกใช้เวลาฝึกตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 1 ปี

เสน่ห์ของอาชีพ "ควาญช้าง" ในความรู้สึกควาญปั้ม คือการได้อยู่ใกล้ชิดและผูกพันกับช้าง แม้เคยถูกช้างใช้งาตีในวันแรกเพราะไม่รู้วิธีเข้าหา แต่ด้วยความอดทนและพยายามเข้าหาช้างเรื่อยๆ ทำให้ควาญปั้มอยู่มาได้จนถึงวันนี้

อาชีพควาญช้างต้องมีใจรัก อยู่กับช้างไม่ทิ้งไปทำอาชีพอื่น ตอนนี้ตัดสินใจว่าจะอยู่กับช้างไปจนเกษียณ

ควาญช้าง อาจไม่ใช่อาชีพในฝันของใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับหนุ่มวัย 21 ปี กิตติชัย ใจแก้ว หรือควาญเคน ตัดสินใจเดินตามรอยลุง ยึดอาชีพควาญช้างตั้งแต่อายุ 19 ปี เพราะความชอบ

เริ่มต้นจากควาญตีน หรือควาญผู้ช่วย ใช้เวลากว่า 2 ปีพัฒนาเป็นควาญคอ ซึ่งเป็นควาญประจำตัวช้างแต่ละเชือก โดยรับหน้าที่ดูแล "ใบบุญ" ช้างน้อยอายุ 4 ปี

ควาญเคน เล่าว่า ใบบุญนิสัยเหมือนคน ชอบเล่น ชอบหยอก แต่ถ้าพูดด้วยไม่ดีหรือใช้คำพูดรุนแรง ใบบุญจะโกรธและไม่เชื่อฟัง

ในช่วง 3 เดือนที่ฝึกด้วยกันทำให้เข้าใจกันมากขึ้น จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ควาญเคนดูแลใบบุญ

ช่วงแรกไม่เชื่อใจกัน 3 เดือนที่ฝึกด้วยกันทำให้เข้าใจมากขึ้น เราเข้าใจช้าง ช้างเข้าใจเรา

อยู่ด้วยกันมานานนับปี ความผูกพันของคู่นี้จึงเหมือนมีเพื่อนเล่น การอยู่กับสิ่งที่ชอบและสัตว์ที่รัก ถือเป็นความสุขและความสนุกในการทำงาน

ควาญช้าง หรือคนเลี้ยงช้าง จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องมีใจรัก ใส่ใจและเต็มใจดูแลสัตว์ใหญ่เหล่านี้ที่เปรียบเหมือนสมาชิกในครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง