เปิดภารกิจ "ช้าง" ทีมหมอลำปาง

สิ่งแวดล้อม
12 ธ.ค. 65
12:43
846
Logo Thai PBS
เปิดภารกิจ "ช้าง" ทีมหมอลำปาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ชวนคุยกับสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง กับภารกิจดูแลรักษาช้างเจ็บป่วย โดยเฉพาะลูกช้างติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ต้องทำงานแข่งกับเวลา โอกาสรอดเพียง 20%
เคยมีคนบอกว่าถ้าเข้ามาทำงานกับช้างแล้ว ช้างเลือกเรา เราไม่ได้เลือกช้าง พอเข้ามาแล้วออกไม่ได้ ก็ค่อนข้างจริง

สพ.ญ.วรางคณา ลังการ์พินธุ์ หรือหมอโบนัส หัวหน้างานโรงพยาบาลช้าง ลำปาง รู้สึกว่าช้างมีเสน่ห์ ตัวใหญ่ และมีงวง แต่เมื่อเข้ามาทำงานจริง ๆ กลายเป็นความผูกพัน เพราะวงการนี้อบอุ่นและช่วยเหลือกันตลอด

หมอโบนัส เลือกเรียนสัตวแพทย์จากความชื่นชอบและรักสัตว์ อีกทั้งมีโอกาสร่วมชมรมเพื่อสัตว์ป่าของคณะ ซึ่งรุ่นพี่ชักชวนให้ไปฝึกงานและทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่าบ่อยครั้ง จนกระทั่งมีโอกาสทำงานดูแลช้างที่โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

ย้อนความทรงจำเคสแรกเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ได้รักษาและผูกพันกับลูกช้าง "พลายคุณชาย" ที่หย่านมก่อนกำหนด ส่งผลให้สารอาหารไม่เพียงพอ เป็นโรคกระดูกบาง กระดูกอ่อน รุนแรงถึงขั้นขาหักและติดเตียง เป็นเวลากว่าครึ่งปีที่เธอต้องคอยดูแล ทำกายภาพให้ลูกช้าง แม้สุดท้ายยื้อชีวิตพลายคุณชายไว้ไม่ได้

แต่ละเคสผ่านไป กลายเป็นหลากความทรงจำ ไม่ต่างจากช้าง "พลายบุญภัคร" อายุ 25 ปี ที่สร้างความตื้นตันและน้ำตาปริ่ม เมื่อความพยายามของทีมสัตวแพทย์ ควาญช้าง และวิศวกร ร่วม 60 ชีวิตเป็นผลสำเร็จ นำอ้อยที่ติดคอช้างออกมาได้ หลังกินอะไรไม่ได้นาน 21 วัน ต้องใช้น้ำเกลือประคอง ผ่านการวางยาซึมและยาสลบหลายครั้ง

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

หมอโบนัส เล่าว่า ก่อนจะวางยาครั้งสุดท้าย หรือครั้งที่ 5 ทีมสัตวแพทย์หารือกันและค่อนข้างเครียด เพราะถ้ารอบนี้ทำไม่สำเร็จ คิดว่าช้างไม่น่าจะพร้อมสำหรับการวางยาครั้งต่อไป แต่ครั้งนั้นสามารถนำอาหารที่อุดตันออกมาได้ ถือเป็นโมเมนต์ที่ดี

จังหวะที่นำอ้อยที่ติดคอช้างออกมาได้ รู้ว่าช้างตัวนี้จะรอด โมเมนต์นั้นประทับใจ

ไม่ใช่ทุกตัวที่ช่วยให้รอดชีวิตได้ หมอโบนัสเรียนรู้และนำทุกเคสมาพัฒนางานรักษาช้าง เธอบอกว่า สัตวแพทย์เลี่ยงจะพบกับความผิดหวังไม่ได้ โดยเฉพาะช้างเชือกที่ผูกพันและดูแลรักษาตั้งแต่เกิด จึงต้องบอกกับตัวเองว่าทำเต็มที่แล้วจะไม่เสียใจ พร้อมเก็บทุกประสบการณ์มาเป็นบทเรียน

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ไม่ต่างจาก น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ผู้มีประสบการณ์ทำงาน 17 ปี ผ่านการค้นหาตัวเองด้วยการย้ายไปทำงานอื่น สุดท้ายพบว่าที่นี่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด

น.สพ.ขจรพัฒน์ เล่าเคสความภาคภูมิใจที่สะท้อนว่าหมอไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ย้อนไปเมื่อปี 2558 เขาเคยช่วยชีวิตลูกช้าง "บุญหลง" ป่วยโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง มาด้วยอาการค่อนข้างหนัก ระหว่างการรักษาในครั้งนี้ เขาต้องเปิดตำราและค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ใช้เวลา 7 วัน ลูกช้างหายป่วยและเติบโตเป็นช้างหนุ่มในทุกวันนี้

โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสมีอัตราการหายน้อยมาก โอกาสรอดเพียง 20%

น.สพ.ขจรพัฒน์ มีโอกาสนำเคสนี้ไปเสนอในงานประชุมที่ต่างประเทศ ซึ่งตนเองไม่ได้มีชื่อเสียง แต่ขณะนั้น "บุญหลง" เป็นเคสเดียวที่รอดชีวิตจากโรคนี้ จนได้รับเสียงปรบมือและชื่นชมที่ช่วยลูกช้างสำเร็จ พร้อมได้เทคนิคใหม่ในการรักษา

เมื่องานเสี่ยงไม่ต่างจากขนาดของช้าง น.สพ.ขจรพัฒน์ บอกว่า หมอทุกคนที่นี่ต้องผ่านงานคุมช้างตกมันอาละวาด เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ท้อเพราะได้ช่วยรักษาชีวิตช้างและคน

ปิดท้ายด้วยตัวแทนหมอหนุ่มวัย 29 ปี น.สพ.กิตติกุล นามวงศ์พรหม พนักงานงานอนุรักษ์ช้าง ที่เลือกเรียนสัตวแพทย์เพราะอยากรักษาแมวที่ป่วย แต่สุดท้ายกลับชื่นชอบงานสัตว์ใหญ่ และเลือกมาฝึกงานที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

น.สพ.กิตติกุล รู้สึกว่า เคสที่ค่อนข้างห่วงและกังวล คือ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในลูกช้าง เพราะอัตราการตายค่อนข้างสูง ต้องทำงานแข่งกับเวลา เมื่อมีการก่อโรคแล้วจะเหลือเวลาให้รักษาน้อย บางตัวถึงโรงพยาบาลไม่ทันลงจากรถแล้วตายเลยก็มี จึงแนะนำให้เจ้าของสังเกตอาการของลูกช้าง ซึ่งเปรียบเหมือน “เด็ก” เมื่อพบอาการผิดปกติ ป่วย ซึม ท้องเสีย อย่าชะล่าใจ และให้รีบพามารักษาอย่างเร็วที่สุด

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

ภาพ : โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

น.สพ.กิตติกุล ย้อนคำพูดของอาจารย์ว่า “รักษาสัตว์ก็เหมือนรักษาเจ้าของ” เมื่อมาทำงานกับช้างยิ่งรู้สึกว่าจริง เขามักได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของช้างและควาญช้าง ทุกวันนี้รู้สึกภูมิใจในอาชีพที่ได้ช่วยเหลือและขับเคลื่อนสังคม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องราวของ "แสนหวาน" ลูกช้างตาบอดจากสารเคมี

เปิดโลกชีวิต "ควาญ-ช้างคู่หู" สถาบันคชบาลฯ ลำปาง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง