คืนชีพ "เครื่องบินโดยสารเร็วเหนือเสียง" ใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 100%

Logo Thai PBS
คืนชีพ "เครื่องบินโดยสารเร็วเหนือเสียง" ใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 100%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทสตาร์ตอัปในสหรัฐฯ ประกาศผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ที่ใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 100% ตอบโจทย์โลกที่กำลังต้องการพลังงานสะอาด

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 สายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ (United Airlines) ได้ประกาศแผนจัดซื้อเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงจำนวน 15 เครื่อง จากบริษัท “บูม” (BOOM) บริษัทสตาร์ตอัป สัญชาติสหรัฐฯ ที่กำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องบิน "คองคอร์ด" (Concorde)

โดยสัญญาการจัดซื้อนี้ ได้จุดกระแสเทคโนโลยีเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงขึ้นมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่เทคโนโลยีเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงได้สูญหายไปพร้อมกับเครื่องบินคองคอร์ด เครื่องบินโดยสารอันโด่งดัง ซึ่งเคยพานักเดินทางทะยานฝ่าท้องฟ้าด้วยความเร็วเกือบ 2 เท่าของเครื่องบินโดยสารในปัจจุบัน ก่อนที่จะถูกปลดประจำการไป เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยและอัตราการกินน้ำมันปริมาณมากต่อหนึ่งเที่ยวบิน

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 ทางบริษัทบูมก็ได้เปิดเผยว่า จะมีบริษัทอีก 3 บริษัท ได้แก่ General Electric Addictive , Florida Turbine Technology และ StandardAero เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการผลิตเครื่องยนต์ “ซิมโฟนี” (Symphony)

สำหรับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่มีชื่อว่า “โอเวอร์เชอร์” (Overture) เครื่องยนต์รุ่นใหม่นี้จะใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) ที่ผลิตจากน้ำมันเหลือทิ้งจากการทำอาหารในครัวเรือน และน้ำมันเสียส่วนเกินจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะไม่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกใด ๆ ออกมาในกระบวนการเชื้อเพลิงเลย ในขณะที่เชื้อเพลิง SAF จะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์

อีกทั้ง เครื่องยนต์ของเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่นี้ ยังถูกออกแบบมาให้กินเชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องยนต์ตัวอื่น ๆ ถึงร้อยละ 10 และสร้างแรงขับมากกว่า 35,000 ปอนด์ขณะออกตัว ซึ่งจะมีการเริ่มสายพานการผลิตช่วงปี 2024 และทดสอบเที่ยวบินแรกภายในปี 2027 ตามลำดับ หลังจากนั้น ต้องรอให้องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ตรวจสอบว่าผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดหรือไม่

ไม่แน่ว่าในอนาคตการเดินทางด้วยเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงก็อาจกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากมีความเร็วในการเดินทางที่มากกว่าเครื่องบินโดยสารปกติเกือบ 2 เท่า แต่ทว่าความเร็วเหนือเสียงนี้ ก็ต้องแลกกับการออกแบบให้รูปทรงเครื่องบินต้องมีขนาดเล็กกะทัดรัด ทำให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพียงแค่ 60 - 80 คน เท่านั้น

จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง จะมีความต้องการในตลาดเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าจะสามารถอยู่เคียงคู่กับสายการบินต่อไปได้หรือไม่

ที่มาข้อมูล: Business Insider
ที่มาภาพ: BOOM
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง