เส้นทางสู่เศรษฐีอวกาศ การทำเหมืองแร่นอกโลก เป็นไปได้แค่ไหน ?

Logo Thai PBS
เส้นทางสู่เศรษฐีอวกาศ การทำเหมืองแร่นอกโลก เป็นไปได้แค่ไหน ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สตาร์ทอัปทั่วโลกหันกลับมาให้ความสนใจ การทำ "เหมืองแร่นอกโลก" บนดวงจันทร์ และดาวเคราะห์น้อย หลังจากทิ้งช่วงไปนานหลายปี อาจนำมาสู่เส้นทางการเป็นเศรษฐีล้านล้านได้ในอนาคต

เรื่องราวของกระแสการทำเหมืองแร่นอกโลกนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2015 เมื่อบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างจรวดที่สามารถกลับมาลงจอดเองได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งสัมภาระไปยังอวกาศนั้นมีราคาต่ำลงเสียจนบริษัทสตาร์ตอัปขนาดเล็กนั้น สามารถจ่ายเงินจ้างสเปซเอ็กซ์ให้ส่งสัมภาระที่ตนต้องการไปยังอวกาศได้

ประกอบกับที่ว่าในขณะนั้น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา (NASA) ได้ปล่อยตัวยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-Rex) ไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งอย่างพอดิบพอดี ซึ่งได้สร้างกระแสให้มีบริษัทสตาร์ตอัปที่ต้องการทำเหมืองแร่นอกโลกเกิดขึ้นมาใหม่อย่างมากมาย จนถึงขั้นที่มีคำกล่าวว่า เศรษฐีที่จะมีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เป็นคนแรกนั้น จะต้องทำธุรกิจเหมืองแร่ในอวกาศ

โดยดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ที่อยู่นอกโลกราว 25% นั้น มีแร่โลหะหายาก (Rare Earth Elements) เกาะกลุ่มกันอยู่ในปริมาณมาก อย่างเช่น แพลทินัม นิกเกิล และโคบอลต์ เป็นต้น แต่ทว่าด้วยแผนการทางธุรกิจที่ไม่ชัดเจน ก็ได้ทำให้บริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากบริษัทสตาร์ตอัปในยุคนั้น ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องพุ่งเป้าหมายทำเงินไปกับแร่ธาตุชนิดใดกันแน่ จึงจะสามารถได้สร้างผลตอบแทนได้สูงสุด

ก่อนที่ต่อมาบริษัทที่เหลือรอดต่าง ๆ ก็ได้ให้ความสนใจไปที่แร่ธาตุหนึ่งขึ้นมา ซึ่งนั่นก็คือ “น้ำแข็ง” สารประกอบเคมีธรรมดาที่มนุษย์รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเราสามารถแยกโมเลกุลของน้ำแข็งที่ประกอบไปด้วย ไฮโดรเจน และออกซิเจน มาใช้ผลิตเชื้อเพลิงของจรวดได้ เนื่องจากเชื้อเพลิงจรวดนั้นสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสัมภาระในอวกาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่ต้นทุนที่มีราคาต่ำลง สำหรับการขุดเจาะ “สินแร่หายาก” อื่น ๆ

โดยน้ำแข็งนั้นถือเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในอวกาศ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงแต่โลกของเรา ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในแถบพื้นที่ของระบบสุริยะที่ปราศจากแสงรบกวนของดวงอาทิตย์ อย่างเช่นใต้ก้นแอ่งหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ที่เพิ่งค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 2008 ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายที่กำลังเป็นที่จับตามองจากหลากหลายกลุ่มมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นองค์การอวกาศภาครัฐบาล หรือบริษัทเอกชนก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่นอกโลกก็ยังคงมีปัญหาด้านระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคอยู่ดี ว่าบริษัทไหนจะทำอะไรกันแน่ ใครจะเป็นคนตรวจหาทรัพยากร ใครจะดำเนินการขุดเจาะและถลุงแร่ เพราะตราบใดที่เรายังไม่มีกลุ่มคนหรือองค์กรต่าง ๆ เข้ามาเติมเต็มกระบวนการทำเหมืองแร่นอกโลกแล้ว ก็ยากที่จะเกิดการพัฒนาเป็นระดับอุตสาหกรรมโดยสมบูรณ์ได้

มิหนำซ้ำกฎหมายนานาชาติที่กำกวมอย่าง สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก (The Outer Space Treaty) ก็ไม่ได้ระบุแนวทางที่ชัดเจนว่าหากบริษัทใดมีความสนใจที่จะถลุงแร่ในอวกาศ จะต้องดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ประการใดบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธุรกิจการทำเหมืองแร่ในอวกาศยังคงมีปัญหายิบย่อยอยู่ บริษัทสตาร์ตอัปต่าง ๆ ก็เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจในด้านนี้อีกครั้ง ด้วยการวางแผนที่รอบคอบยิ่งกว่าเดิม ตั้งแต่บริษัทสตาร์ตอัปที่มุงเน้นไปที่การสร้างระบบตรวจหาดาวเคราะห์น้อยเพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะผูกขาดระบบโครงสร้างพื้นฐานในการทำเหมืองแร่ ไปจนถึงบริษัทที่พยายามออกแบบกระบวนการเปลี่ยนน้ำแข็งให้กลายเป็นเชื้อเพลิงโดยใช้พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานเข้าไปอีก

ไม่แน่ว่าการกลับมาของบริษัทสตาร์ตอัปในครั้งนี้ ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่นอกโลกนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิดไว้ และถ้าหากการถลุงแร่ในอวกาศนั้นประสบความสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ การทำเหมืองแร่บนพื้นโลกที่ก่อให้เกิดมลพิษและผลกระทบที่ตามมาอย่างมากมายก็อาจถูกโอนย้ายไปในอวกาศทั้งหมด เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีว่าการไปสำรวจอวกาศนั้นก็สามารถกลับมาช่วยโลกของเราได้เช่นกัน

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง