26 ปี "ดอลลี่" แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลก ผู้ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล

Logo Thai PBS
26 ปี "ดอลลี่" แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลก ผู้ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 สื่อมวลชนเสนอข่าวความสำเร็จในการโคลนนิ่งแกะชื่อ "ดอลลี่" (Dolly) ที่ปฏิวัติการวิจัยสเต็มเซลล์ให้พัฒนามากขึ้น และทำให้เกิดประโยชน์ทั้งกับการรักษาโรคและป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์

"ดอลลี่" แกะเพศเมียที่ถูกโคลนนิ่งจากห้องทดลองของสถาบันวิจัยในประเทศสกอตแลนด์ แม้ไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่ถูกโคลนนิ่ง แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่โคลนนิ่งได้สำเร็จ ดอลลี่เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1996 ถูกโคลนนิ่งขึ้นโดยใช้เซลล์จากต่อมน้ำนมของแกะตัวอื่น โดยสิ่งที่บ่งบอกว่าดอลลี่เกิดมาจากการโคลนนิ่ง คือ มีใบหน้าสีขาว เพราะดอลลี่จะต้องมีใบหน้าสีดำตามแม่แกะ หากเกิดเองตามธรรมชาติ

คีธ แคมป์เบล (Keith Campbell) เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) และคณะวิจัยแห่งสถาบันรอสลิน (Roslin Institute) มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) ประเทศสกอตแลนด์ และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ PPL Therapeutics นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลอง ได้ตั้งชื่อแกะตัวนี้ว่า “ดอลลี่” (Dolly) ซึ่งมาจาก Dolly Parton ชื่อของนักร้องหญิงและนักแสดงชาวอเมริกัน

ดอลลี่ เป็นแกะที่เกิดจากกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยวิธีถ่ายฝากนิวเคลียส (Nuclear Transfer) เป็นการเปลี่ยนถ่ายนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของแม่แกะตัวที่ 1 ไปแทนที่นิวเคลียสในเซลล์ไข่ของแม่แกะตัวที่ 2 หลังจากนั้นใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ให้แบ่งตัวจนพัฒนาเป็นตัวอ่อน และนำไปฝังตัวในมดลูกของแม่แกะตัวที่ 3 เพื่ออุ้มบุญ

แกะดอลลี่ตายเมื่ออายุ 6 ปี ซึ่งผิดปกติจากแกะสายพันธุ์ Finn-Dorset ตัวอื่น ๆ ที่จะมีอายุขัยประมาณ 11-12 ปี เมื่อพิจารณาในระดับเซลล์แล้วพบว่า เทโลเมียร์ (Telomere) หรือ ดีเอ็นเอส่วนท้ายของโครโมโซม ในตัวของแกะดอลลี่มีขนาดสั้นผิดปกติ โดยทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและกำหนดอายุขัยของเซลล์

 

ดังนั้น หากเทโลเมียร์มีขนาดสั้นลง แปลว่าอายุขัยก็จะสั้นตามไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายของดอลลี่อ่อนแอลงเร็วกว่าแกะปกติ ท้ายที่สุดดอลลี่ถูกการุณยฆาตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2003 เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยจากโรคทางปอด และโรคข้อกระดูกอักเสบ

ความสำเร็จจากการ "โคลนนิ่งแกะดอลลี่" เป็นการช่วยปฏิวัติมุมมองของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์เกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์ ซึ่งเดิมมองว่าเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิแล้วได้พัฒนาเป็นสัตว์หลายเซลล์ จะไม่สามารถถูกพัฒนาต่อเป็นเซลล์อื่นได้ แต่การโคลนนิ่งดอลลี่ได้สำเร็จเป็นการเปลี่ยนความเชื่อนั้นลงอย่างสิ้นเชิง

อีกทั้งยังช่วยนำไปสู่การพัฒนาสเต็มเซลล์และการค้นพบเซลล์ต่าง ๆ อย่าง "ชินยะ ยามานากะ" นักวิจัยสเต็มเซลล์ชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบเซลล์ iPS โดยนำเสนอวิธีการจำลองโรคในมนุษย์ และใช้ในการวิจัยทางชีววิทยาเกี่ยวกับการรักษาอาการแก่ก่อนวัย โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ

นอกจากนี้ ภายหลังจากการโคลนนิ่งดอลลี่ ได้มีการทดลองโคลนนิ่งสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย ซึ่งใช้กระบวนการโคลนนิ่งแบบเดียวกับดอลลี่ ได้แก่ การโคลนนิ่งตัวอ่อนของมนุษย์สำเร็จในปี 2013 การโคลนนิ่งลิงในปี 2018 รวมทั้งมีการโคลนนิ่งสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยนักวิจัยสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งม้าชาวัลสกี (Przewalski's horse) ม้าพื้นเมืองของมองโกเลียในปี 2020 และเฟอร์เร็ตเท้าดำในปี 2021

ในปัจจุบันร่างของแกะดอลลี่ได้ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์ (National Museums Scotland) เพื่อเป็นการสะท้อนความพยายามในการเอาชนะข้อจำกัดของธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำให้สำเร็จขึ้นมาได้ และเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไปตลอดกาล

ที่มาข้อมูล: ed, dw, time
ที่มาภาพ: ed.ac.uk
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง