พบแหล่งแร่ "แรร์เอิร์ธ" ใหม่ ในสวีเดน ผลักดันยุโรปลดการพึ่งพาจากจีน

Logo Thai PBS
พบแหล่งแร่ "แรร์เอิร์ธ" ใหม่ ในสวีเดน ผลักดันยุโรปลดการพึ่งพาจากจีน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัทขุดเหมืองภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาลสวีเดน ค้นพบแหล่งแร่ "แรร์เอิร์ธ" ขนาดยักษ์ บริเวณทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งอาจช่วยให้ยุโรปปลดแอกการพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธจากจีนได้ในอนาคตอันใกล้

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัท ​​​​LKAB ที่รัฐบาลสวีเดนเป็นเจ้าของ ได้ออกมาเปิดเผยถึงการค้นพบแหล่งแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements) ที่มีปริมาณมากกว่า 1 ล้านล้านตัน ในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งเหมืองแร่เหล็กเดิมทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งอาจเป็นแหล่งแร่แรร์เอิร์ธที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในทวีปยุโรปเลยก็ว่าได้

แร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) คือกลุ่มแร่โลหะหายาก 17 ชนิด ซึ่งมักอยู่กันอย่างกระจัดกระจายไปทั่วแผ่นเปลือกโลก ไม่ได้กระจุกตัวเหมือนกับกลุ่มแร่อื่น ๆ จึงยากต่อการค้นหาและระบุพิกัดที่ชัดเจน อีกทั้งแร่แรร์เอิร์ธนี้ยังมีคุณสมบัติทางเคมีที่ทำให้กระบวนการถลุงแร่ให้บริสุทธิ์เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงตามไปด้วย

แต่ถึงกระนั้น แร่แรร์เอิร์ธก็กลับมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย อย่างเช่น นำไฟฟ้าได้ ทนต่อความร้อน และมีคุณสมบัติแม่เหล็กสูง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีความต้องการสูงในตลาดยุโรป ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนใบพัดของกังหันลม ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม

Ebba Busch รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสวีเดนกล่าวในงานแถลงข่าวการค้นพบแหล่งแร่แรร์เอิร์ธว่า “ข่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ข่าวดีสำหรับบริษัท LKAB สำหรับพื้นที่ใกล้เคียง หรือ สำหรับคนสวีเดนเท่านั้น แต่เป็นข่าวดีสำหรับทั้งทวีปยุโรปและภูมิอากาศโลก”

โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต้องการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในยุโรปเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น ก็มาจากผลพวงที่รัสเซียได้ตอบมาตรการคว่ำบาตรของยุโรปต่อวิกฤตการ์ณสงครามในยูเครน ด้วยการยุติการส่งออกแก๊สธรรมชาติ จนเกิดวิกฤตราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้นทั่วทั้งยุโรป

เหมืองแร่แรร์เอิร์ธแห่งใหม่ในสวีเดน จึงอาจช่วยให้ยุโรปเร่งสับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้ในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ทั้งทางฝั่งของภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการของสหภาพยุโรปเดิมที่จะยุติการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างสิ้นเชิงภายในปี ค.ศ. 2050 นี้ และยังเป็นการลดการพึ่งพาแหล่งแร่แรร์เอิร์ธจากจีน ที่มีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ในปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธ อันดับ 1 ของโลก ซึ่งได้ครอบครองพื้นที่ตลาดส่วนใหญ่ในโลกไปแล้ว อย่างในยุโรปเองก็มีการนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธจากจีนในสัดส่วนที่สูงกว่า 98% เนื่องจากรัฐบาลจีนนั้น มีนโยบายให้เงินอุดหนุนบริษัทเหมืองแร่ จนมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตเจ้าอื่น ๆ

หากย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2010 ประเทศจีนเคยใช้อำนาจการผูกขาดแร่แรร์เอิร์ธนี้ มาเป็นอาวุธต่อรองความขัดแย้งกับญี่ปุ่น ในกรณีที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจับกุมเรือประมงสัญชาติจีนที่ได้แล่นเรือรุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำของตน ก่อนที่ต่อมาในปี ค.ศ. 2019 จีนก็ได้ข่มขู่สหรัฐฯ ว่าจะยุติการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธให้ ท่ามกลางสงครามการค้าในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)

ทั้งหมดนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนักที่สหภาพยุโรปต้องการลดการพึ่งพาแร่แรร์เอิร์ธจากจีน เพราะถ้าหากมีความขัดแย้งกับจีนเกิดขึ้นมาในอนาคต ยุโรปจะได้ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นจากรัสเซีย แต่ทว่ายุโรปเองก็ต้องเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการถลุงแร่แรร์เอิร์ธขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแร่แรร์เอิร์ธที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรป

“อิสรภาพและการพึ่งพาตนเองของสหภาพยุโรปจากรัสเซียและจีนนั้น จะเริ่มต้นด้วยการทำเหมือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสวีเดน กล่าวเพิ่มเติมในงานแถลงข่าว

ที่มาข้อมูล: LKAB , CNN , DW
ที่มาภาพ: LKAB , Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง