รู้จัก "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" ผู้ล้างความเชื่อ "โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล"

Logo Thai PBS
รู้จัก "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" ผู้ล้างความเชื่อ "โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จักกับ "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์ผู้ท้าทายศาสนจักร ด้วยทฤษที่ว่า "ดวงอาทิตย์" คือ "ศูนย์กลางของระบบสุริยะ" หาใช่โลกที่ผู้คนเชื่อมาหลายพันปี

นอดีตกาลอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรบนโลกทั้งหลาย ตั้งแต่อียิปต์โบราณไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่างเชื่อว่าโลกของเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทั้งสิ้น เนื่องจากในช่วงเวลากลางคืน จุดแสงสว่างสีขาวระยิบระยับที่พวกเขาเรียกว่า “ดาวฤกษ์” นั้นต่างเคลื่อนที่หมุนวนรอบท้องฟ้าอย่างเป็นระบบคืนแล้วคืนเล่า โดยมีดาวเหนือเป็นศูนย์กลางจุดหมุน ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นดีในยุคนั้นที่เข้ามาสนับสนุนทฤษฎีว่าด้วยโลกเป็นศูนย์กลาง

มิหนำซ้ำ "อริสโตเติล" (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกโบราณผู้ที่คนให้ความเคารพในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนแรกของยุคโบราณ ยังได้สนับสนุนทฤษฎีนี้อีกด้วย โดยตัวเขาได้ให้เหตุผลว่า โลกของเราเป็นศูนย์กลางเพราะโลกนั้นไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน เพราะหากโลกเคลื่อนที่จริงก็คงมีลมพายุพัดไปมาทั่วพื้นผิวไปแล้ว ซึ่งแนวคิดของอริสโตเติลนี้ได้ฝังรากลึกต่อผู้คนยุคโบราณมาหลายพันปี

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1543 นักดาราศาสตร์คนหนึ่งที่มีชื่อว่า "นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" (Nicolaus Copernicus) ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาว่าด้วยเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตได้ไม่นาน ซึ่งผลงานนี้ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติรอบตัวไปตลอดกาล

ชีวิตส่วนตัวและการศึกษาของ "โคเปอร์นิคัส"

"นิโคลัส โคเปอร์นิคัส" เกิดที่เมือง Toruń ราชอาณาจักรโปแลนด์ ค.ศ. 1473 ซึ่งเขาได้เดินทางไปยังคาบสมุทรอิตาลี ณ เมืองโบโลญญา และเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยช่วงวัย 23 ปี ทางด้านกฎหมายที่เรียกว่า Canon Law ซึ่งคือกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบการปกครองของศาสนจักรโรมันคาทอลิก เพื่อที่จะประกอบอาชีพภายใต้ศาสจนจักรในอนาคต โดยการตัดสินใจเรียนกฎหมายของ โคเปอร์นิคัส นั้นมาจากอิทธิพลจากลุงของเขาเอง

ขณะที่แท้จริงแล้ว โคเปอร์นิคัส กลับมีความสนใจทางด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าในระหว่างที่เขาเป็นนักศึกษากฎหมายอยู่ เขาก็ได้ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการเรียนคณิตศาสตร์ และเดินทางไปช่วยงาน ศาสตราจารย์โดเมนิโก (Domenico Maria de Novara) อาจารย์ที่สอนวิชาดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ด้านการศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้า แต่ทว่าเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาขั้นสูงทั้งหมดในวัย 30 ปีแล้ว เขาก็ได้เดินทางไปรับหน้าที่เจ้าหน้าที่ของศาสนจักรที่เมือง Warmia ราชอาณาจักรโปแลนด์ ซึ่งเขายังคงใช้เวลาว่างศึกษาเรื่องดาราศาสตร์อยู่

โดยความใกล้ชิดต่อศาสนจักรนี้ได้ทำให้นักวิชาการหลายคนในยุคหลัง ๆ คาดว่านี่คือเหตุผลเบื้องหลังที่ โคเปอร์นิคัส ไม่ยอมตีพิมพ์ผลงานว่าด้วยเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางทันทีที่เขาเรียบเรียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะมีความคิดเรื่องนี้อยู่ในหัวตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้วก็ตาม เนื่องจากอาจเกิดประเด็นความขัดแย้งที่ตามมาได้

แนวคิดทฤษฎีโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ

ถึงแม้ว่านักดาราศาสตร์ในยุโรปจะเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะมาอย่างยาวนานแล้ว แต่แนวคิดนี้ก็คงมีปัญหาหนึ่งที่ได้จุดประกายความสงสัยในตัว โคเปอร์นิคัส ซึ่งก็คือการเคลื่อนที่ของดาวบางดวงที่ไม่มีรูปแบบตายตัวแน่นอนเหมือนกับดาวฤกษ์บนฉากหลังดวงอื่น ๆ ที่หมุนวนรอบดาวเหนือ

ชาวกรีกโบราณขนานนามดวงดาวที่เคลื่อนที่ไปมาอย่างแปลกประหลาดนี้ว่า “Planetos” ที่แปลว่า “ผู้พเนจร” หรือ “ดาวเคราะห์” ในภาษาไทย อันได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ทำให้ "ปโตเลมี" นักคณิตศาสตร์ชาวกรีกชื่อดังยุคหลังอริสโตเติล จึงได้พยายามอธิบายรูปแบบการเคลื่อนที่วกกลับของดาวเคราะห์ (Retrograde Motion) นี้ ด้วยวงโคจรแสนซับซ้อนที่วกไปวนมา

ส่วนทางโคเปอร์นิคัส คิดว่าการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในลักษณะนี้มีความซับซ้อนจนเกินไป ซึ่งเมื่อเขาลองนำดวงอาทิตย์มาเป็นศูนย์กลางตามความคิดของเขาแล้ว เขาจึงค้นพบว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ สามารถโคจรรอบดวงอาทิตย์ได้ในลักษณะเป็นวงกลมอย่างง่าย ๆ ได้ ขณะที่เขาสามารถอธิบายการเคลื่อนที่วกกลับของดาวเคราะห์ได้อีกด้วย

โคเปอร์นิคัส กล่าวในงานเขียนของเขาว่า การเคลื่อนที่วกกลับของดาวเคราะห์นี้เกิดขึ้น เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยระยะเวลาที่ไม่เท่ากันกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ อย่างเช่น ดาวอังคารที่ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ช้ากว่าโลก จึงทำให้ตำแหน่งของโลกอยู่นั้นนำหน้าดาวอังคารบ้าง อยู่หลังดาวอังคารบ้าง สลับกันไปในแต่ละช่วงของปี ซึ่งผู้สังเกตบนพื้นโลกจะเห็นดาวอังคารเคลื่อนที่ไปมาในรูปแบบที่คาดเดาได้ยาก

ส่วนการที่เราเห็นดาวฤกษ์ในฉากหลังหมุนวนรอบดาวเหนือนั้น เป็นเพราะว่าโลกหมุนรอบตัวเองต่างหาก โดยมีดาวเหนือเป็นดาวที่อยู่ ณ ตำแหน่งแกนหมุนของโลกพอดี เราจึงสังเกตเห็นว่าดาวเหนือนั้น ไม่เคลื่อนที่ไปไหน อีกทั้งการหมุนรอบตัวเองของโลกยังอธิบายเรื่องการเกิดกลางวันกลางคืนได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

ปัญหากับศาสนจักร และผลกระทบที่ตามมาต่อคนรุ่นหลัง

หลังจากที่ โคเปอร์นิคัส เสียชีวิตลงผลงานของก็เขาก็ได้รับความสนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์บางส่วน ซึ่งรวมไปถึง "จิออร์นาโด บรูโน" (Giordano Bruno) บาทหลวงผู้หลงใหลเรื่องดาราศาสตร์ท่านหนึ่งด้วย แต่ทว่าไม่นานหลังจากนั้นแนวคิดเรื่องที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะนั้นก็กลับถูกศาสนจักรเพ่งเล็งว่าเป็นหนังสือนอกรีต สอนในสิ่งที่ผิดไปจากพระวัจนะของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิล

ผู้คนที่เชื่อในแนวคิดของ โคเปอร์นิคัส อย่าง บรูโน นั้นก็ถูกจับไปประหารด้วยวิธีการเผาทั้งเป็น ภายใต้ฐานความผิดที่เขาประพฤติตัวนอกรีต อีกทั้ง "กาลิเลโอ กาลิเลอี" นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกผู้คิดค้นกล้องโทรทรรศน์ ที่สนับสนุนทฤษฎีของ โคเปอร์นิคัส ก็ต้องถูกกักบริเวณในบ้านพักไปตลอดทั้งชีวิตของเขา ในข้อหาประพฤติตัวนอกรีตเช่นกัน

แต่ทว่าในเวลาต่อมา "โยฮันเนส เคปเลอร์" (Johannes kepler) นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันก็ได้คิดค้นสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้อธิบายการเคลื่อนของวัตถุเทหฟากฟ้า โดยอาศัยข้อข้อมูลการสังเกตของ กาลิเลโอ มาใช้ในการเป็นหลักการคำนวณขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อิทธิพลของศาสนจักรเริ่มเสื่อมถอยลงจากการปฏิรูปศาสนาในยุโรปอย่างพอดิบพอดี

มิหนำซ้ำ "ไอแซค นิวตัน" (Issac Newton) ก็ได้เข้ามาเติมเต็มแนวคิดของโคเปอร์นิคัสด้วย ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นตะปูตอกฝาโลงตัวสุดท้ายที่ได้พังทลายความเชื่อเดิมที่โลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะไปจนหมดสิ้น ซึ่งได้ปูทางให้กับวิชาดาราศาสตร์ต่อมาในปัจจุบัน

ที่มาข้อมูล: NASA , Britannica , SPACE.COM
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง